ลิ้งค์เชื่อมต่อ

โศกนาฏกรรมสนามฟุตบอล ขับเน้นปัญหาปกคลุมวงการลูกหนังอินโดฯ


Arema FC players and officials react as they visit Kanjuruhan Stadium, after a riot and stampede following a soccer match between Arema vs Persebaya in Malang, East Java province, Indonesia. (Antara Foto. Antara Foto/Prasetia Fauzani/via Reuters)
Arema FC players and officials react as they visit Kanjuruhan Stadium, after a riot and stampede following a soccer match between Arema vs Persebaya in Malang, East Java province, Indonesia. (Antara Foto. Antara Foto/Prasetia Fauzani/via Reuters)

เมื่อเร็ว ๆ นี้ อินโดนีเซียเพิ่งได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพการแข่งขันฟุตบอลโลกระดับอายุต่ำกว่า 20 ปีเป็นครั้งแรก ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญของวงการฟุตบอลอินโดนีเซีย และก่อความหวังว่าความสำเร็จจากการแข่งขันนี้จะช่วยกลบปัญหาที่มีมายาวนานในวงการกีฬาของแดนอิเหนาได้

ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย โจโก วีโดโด กล่าวไว้เมื่อเดือนที่แล้วว่า "การแข่งขันฟุตบอลโลกอายุต่ำกว่า 20 ปี จะทำให้ทั่วโลกจับตามองประเทศของเรา เพราะจะมีทีมฟุตบอลจาก 24 ประเทศใน 5 ทวีปเข้าร่วม"

แต่เหตุการณ์เหยียบกันตายที่สนามกีฬากันจูรูฮาน อำเภอมาลัง จังหวัดชวาตะวันออก เมื่อวันเสาร์ ซึ่งมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 125 คน ได้ทำให้ภาพของอินโดนีเซียที่ถูกมองว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่อันตรายที่สุดในโลกสำหรับการเข้าชมกีฬา ถูกปลุกให้ตื่นขึ้นมาอีกครั้ง

เลขาธิการใหญ่สหประชาชาติ อันโตนิโอ กูเทอเรซ มีแถลงการณ์แสดงความเสียใจต่อครอบครัวของผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจากเหตุการณ์นี้ และขอให้ทางการอินโดนีเซียสอบสวนเหตุการณ์อย่างถี่ถ้วน และใช้ทุกมาตรการที่มีอยู่เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโศกนาฏกรรมซ้ำรอย

ขณะที่การแข่งขันฟุตบอลลีกสูงสุดของอินโดนีเซียในฤดูกาลนี้ต้องถูกระงับไปอย่างไม่มีกำหนด

Relatives stand nearby as survivors of Saturday's soccer riots are treated at a hospital in Malang, East Java, Indonesia, Oct. 3, 2022.
Relatives stand nearby as survivors of Saturday's soccer riots are treated at a hospital in Malang, East Java, Indonesia, Oct. 3, 2022.

ความรุนแรงในวงการฟุตบอลอินโดฯ

อินโดนีเซียคือประเทศแรกในเอเชียที่เข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายเมื่อปีค.ศ.1938 ภายใต้ชื่อ ดัตช์ อีสต์ อินดีส์ (Dutch East Indies) แต่นับตั้งแต่นั้นก็ไม่เคยสามารถกลับสู่เวทีการแข่งขันที่ว่านี้ได้อีกเลย

แม้ประชาชนอินโดฯ ต่างคลั่งไคล้ในเกมลูกหนังไม่แพ้ชาติอื่น แต่ดูเหมือนปัญหาคอร์รัปชั่น ความรุนแรง และการจัดการที่ไร้ประสิทธิภาพ ล้วนทำให้วงการฟุตบอลอินโดนีเซียยิ่งก้าวถอยหลังตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา

ข้อมูลจากองค์กรตรวจสอบด้านการกีฬาของอินโดนีเซีย Save Our Soccer ชี้ให้เห็นว่า ในช่วง 28 ปีที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิตจากความรุนแรงที่เกี่ยวกับกับการแข่งขันฟุตบอลในประเทศรวม 78 คน ส่วนใหญ่เป็นความขัดแย้งระหว่างแฟนฟุตบอลของทีมที่เป็นคู่อริกัน

Supporters of soccer club Arema FC pray for the victims of Saturday's soccer match in Malang, Indonesia, Oct. 3, 2022. (AP/Achmad Ibrahim)
Supporters of soccer club Arema FC pray for the victims of Saturday's soccer match in Malang, Indonesia, Oct. 3, 2022. (AP/Achmad Ibrahim)

เหตุเหยียบกันตายเมื่อวันเสาร์ เกิดขึ้นหลังจากที่ทีมเจ้าบ้าน อเรมา เอฟซี (Arema FC) พ่ายแพ้ต่อทีมคู่อริ เปอร์เซบายา เอฟซี (Persebaya FC) 3-2 ทำให้แฟนฟุตบอลของทีมเจ้าบ้านต่างไม่พอใจและขว้างปาขวดและสิ่งของต่าง ๆ ใส่นักฟุตบอลและเจ้าหน้าที่ในสนาม หลายคนวิ่งลงไปในสนามฟุตบอลจนเกิดจลาจลครั้งใหญ่

ในช่วง 23 ปีที่ผ่านมา ทีมอเรมาไม่เคยพ่ายแพ้ในบ้านต่อทีมคู่ปรับ เปอร์เซบายา มาก่อน ทำให้แฟนฟุตบอลต้องการทวงถามความรับผิดชอบจากบรรดาเจ้าหน้าที่ของทีมอเรมา

หัวหน้าตำรวจอำเภอมาลังระบุว่า มีผู้เข้าชมเกมเมื่อวันเสาร์ 42,000 คน ซึ่งทั้งหมดเป็นแฟนของทีมเจ้าบ้าน เนื่องจากผู้จัดการแข่งขันสั่งห้ามแฟนของทีมเยือนเข้าสนามเพื่อป้องกันเหตุวุ่นวาย ถึงกระนั้นก็ไม่สามารถป้องกันการก่อจลาจลครั้งนี้ได้

Soccer fans enter the pitch during a clash between supporters at Kanjuruhan Stadium in Malang, East Java, Indonesia, Oct. 1, 2022.
Soccer fans enter the pitch during a clash between supporters at Kanjuruhan Stadium in Malang, East Java, Indonesia, Oct. 1, 2022.

คำถามต่อมาตรการรับมือของตำรวจ

ที่ผ่านมา บรรดาแฟนฟุตบอลต่างกล่าวหาตำรวจว่าทำเกินกว่าเหตุในการรับมือเหตุการณ์วุ่นวายระหว่างการแข่งขันต่าง ๆ รวมทั้งในครั้งล่าสุดที่พยานหลายคนให้การว่า เจ้าหน้าที่ใช้กระบองทุบตีแฟนฟุตบอลก่อนที่จะยิงแก๊สน้ำตาใส่ฝูงชน รวมทั้งบนอัฒจันทร์ ก่อให้เกิดความตื่นตระหนกในหมู่แฟนบอลที่พยายามแย่งกันหาทางออกจากสนามกีฬา จนเกิดเหตุเหยียบย่ำกันจนเสียชีวิต

อักมาล มาร์ฮาลี นักวิเคราะห์ฟุตบอล กล่าวว่า "ตำรวจอินโดนีเซียละเมิดกฎเกณฑ์ด้านความปลอดภัยของสมาพันธ์ฟุตบอลโลก หรือ ฟีฟ่า" ซึ่งระบุว่าห้ามใช้แก๊สน้ำตาภายในสนามกีฬา และว่า "สมาคมฟุตบอลอินโดนีเซียอาจเพิกเฉยและไม่ได้แจ้งให้ตำรวจทราบถึงมาตรการด้านความปลอดภัยระหว่างการแข่งขันฟุตบอล ซึ่งแตกต่างจากการควบคุมการประท้วง"

อัสมาน ฮามิด แห่งองค์กรสิทธิมนุษยชน Amnesty International Indonesia กล่าวว่า ตำรวจที่ละเมิดกฏระเบียบดังกล่าวด้วยการใช้แก๊สน้ำตาต่อแฟนฟุตบอล ควรถูกนำตัวไปสอบสวนและดำเนินคดี

Players and officials of the soccer club Arema FC pray outside the Kanjuruhan Stadium where many fans lost their lives in a stampede Saturday night in Malang, Indonesia, Oct. 3, 2022.
Players and officials of the soccer club Arema FC pray outside the Kanjuruhan Stadium where many fans lost their lives in a stampede Saturday night in Malang, Indonesia, Oct. 3, 2022.

ปัญหาคอร์รัปชั่นวงการลูกหนัง

ที่ผ่านมา สมาคมฟุตบอลอินโดนีเซีย หรือ PSSI ตกเป็นข่าวอื้อฉาวหลายครั้งเรื่องการจัดการดูแลการแข่งขัน และปัญหาคอร์รัปชั่น

เมื่อปี 2007 นูร์ดิน ฮาลิด ประธานสมาคม PSSI ถูกศาลสั่งจำคุกในข้อหาคอร์รัปชั่น แต่เขายังคงทำหน้าที่ประธานได้ต่อไปจนถึงปี 2011 ก่อนที่จะเกิดการปฏิรูปวงการฟุตบอลอินโดนีเซียขึ้นใหม่

ในปี 2019 ฟีฟ่าประกาศเลือกอินโดนีเซียเป็นเจ้าภาพการแข่งขันฟุตบอลโลกรุ่นอายุไม่เกิน 20 ปี ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าเป็นการลงมติเพื่อแสดงความไว้วางใจต่ออินโดนีเซียในการจัดการแข่งขันกีฬาระดับโลก

จนถึงขณะนี้ ฟีฟ่ายังมิได้ออกมาแสดงความเห็นว่าเหตุการณ์เมื่อวันเสาร์จะส่งผลกระทบต่อการเป็นเจ้าภาพรายการนี้ที่จะมีขึ้นในช่วงเดือนพฤษภาคม - เดือนมิถุนายนปีหน้า หรือไม่

อย่างไรก็ตาม คาดว่าเรื่องนี้จะมีผลกระทบที่ชัดเจนต่อการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพการแข่งขันฟุตบอล เอเชียน คัพ ปี 2023 ซึ่งอินโดนีเซียต้องแข่งกับเกาหลีใต้และกาตาร์ที่ล้วนมีความพร้อมสูงกว่า โดยสมาพันธ์ฟุตบอลเอเชีย มีกำหนดจะประกาศการตัดสินใจในวันที่ 17 ตุลาคมนี้

  • ที่มา: เอพี
XS
SM
MD
LG