ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ถึงคิวสหรัฐฯ ‘เศรษฐา’ ชงไอเดีย ‘แลนด์บริดจ์’ ระหว่างร่วม APEC


เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีไทย (ที่มา: รอยเตอร์/แฟ้มภาพ)
เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีไทย (ที่มา: รอยเตอร์/แฟ้มภาพ)

หลังไปเดินสายที่จีนเสร็จ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีไทย เสนอโครงการแลนด์บริดจ์ต่อนักลงทุนสหรัฐฯ ที่จะสร้างทางลัดภาคพื้นดินแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ชี้ เร็ว ถูก ปลอดภัยกว่าช่องแคบมะละกา นักวิเคราะห์ชี้ สะท้อนความพยายามสานสมดุลการทูตของไทยต่อมหาอำนาจ

บลูมเบิร์กรายงานว่า เศรษฐา ที่เดินทางมาร่วมประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปค) ที่นครซานฟรานซิสโก กล่าวกับนักลงทุนในวันจันทร์ว่า โครงการแลนด์บริดจ์ จะย่นระยะทางการขนส่งโดยเฉลี่ย 4 วัน ลดต้นทุนการขนส่งได้ 15% และสามารถนำส่งสินค้าได้อย่างไร้รอยต่อ ในขณะที่ปริมาณการใช้น่านน้ำบนช่องแคบมะละกานั้น มีการคาดการณ์ว่าจะเกินกว่าที่ศักยภาพจะรองรับได้ในปี 2030

โครงการดังกล่าวจะใช้เงินราว 1 ล้านล้านบาท เพื่อสร้างท่าเรือขึ้นที่สองฝั่งของพื้นที่ภาคใต้ของไทย แล้วใช้ระบบรางและถนนเชื่อมต่อสองท่าเรือที่อยู่ห่างกันราว 100 กม. เข้าด้วยกัน ซึ่งเป็นแนวทางที่นำมาเสนอแทนที่โครงการคลองไทย ที่เป็นการขุดคลองเพื่อเป็นทางลัดระหว่างฝั่งอ่าวไทยและทะเลอันดามันบริเวณ จ.ระนอง หรือที่รู้จักกันในชื่อ “คอคอดกระ”

เศรษฐากล่าวด้วยว่า ช่องแคบมะละกาที่เป็นช่องทางที่สั้นที่สุดระหว่างภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกกับอินเดียและภูมิภาคตะวันออกกลางนั้น มีปริมาณการขนส่งสินค้าเป็นสัดส่วน 1 ใน 4 ของปริมาณสินค้าทั้งหมดบนโลก และมีแต่จะแออัดยิ่งขึ้น ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการขนส่งผ่านช่องแคบเพิ่มขึ้นไปอีก และยังมีเรื่องของความปลอดภัยในการผ่านช่องแคบ ที่มีอัตราอุบัติเหตุจากการเดินเรือเฉลี่ยมากกว่า 60 ครั้งต่อปี

“แลนด์บริดจ์จะเป็นเส้นทางที่สำคัญที่เพิ่มขึ้นมา เพื่อสนับสนุนการขนส่งและเป็นทางเลือกที่สำคัญสำหรับการแก้ไขปัญหาที่ช่องแคบมะละกา”

“นี่จะเป็นเส้นทางที่ถูกกว่า เร็วกว่า และปลอดภัยกว่า” เศรษฐากล่าว

ในการนำเสนอ เศรษฐาระบุว่า ท่าเรือที่ฝั่งตะวันตกจะสามารถรองรับปริมาณสินค้าได้อยู่ที่ 19.4 ล้านหน่วยเทียบเท่าตัน (TEU) ส่วนท่าเรือฝั่งตะวันออกจะสามารถรับสินค้าได้ที่ 13.8 TEU ซึ่งคิดเป็นประมาณ 23% ของปริมาณการขนส่งสินค้าทั้งหมดของท่าเรือมะละกา

นายกรัฐมนตรีของไทยยังระบุด้วยว่า ทางไทยคาดว่าโครงการแลนด์บริดจ์จะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2030 และนักลงทุนจากต่างชาติจะได้รับอนุญาตให้ร่วมทุนกับบริษัทในประเทศได้ในสัดส่วนมากกว่า 50% ในส่วนการก่อสร้างท่าเรือและโครงสร้างพื้นฐาน โดยนายกฯ เศรษฐาคาดการณ์ว่าโครงการแลนด์บริดจ์จะช่วยจ้างงาน 280,000 ตำแหน่ง และเพิ่มอัตราการเจริญเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) เป็น 5.5% ต่อปี

ข้อมูลจากสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร ประเมินว่าการสร้างท่าเรือน้ำลึกที่ จ.ระนองในฝั่งทะเลอันดามัน และที่ จ.ชุมพรที่ฝั่งอ่าวไทย จะต้องใช้เงินราว 630,000 ล้านบาท

นิตยสาร TIME รายงานว่า ก่อนหน้านี้เศรษฐาได้นำโครงการแลนด์บริดจ์ไปเสนอในเวทีหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางที่กรุงปักกิ่งมาก่อนเมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา และได้รับความสนใจจากนักลงทุนจีนและซาอุดีอาระเบีย

ในแถลงการณ์เมื่อวันจันทร์ ตามเวลาท้องถิ่น เศรษฐาระบุว่า “ผมมีความเชื่อว่าสิ่งนี้เป็นโอกาสที่ไม่เคยมีมาก่อน ในการลงทุนในโครงการที่มีความสำคัญในทางการค้าและยุทธศาสตร์ ในการเชื่อมต่อมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย และเชื่อมต่อผู้คนจากตะวันออกและตะวันตก”

มาร์ค เอส. โคแกน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านความขัดแย้งและสันติศึกษา มหาวิทยาลัย Kansai Gaidai University ประเทศญี่ปุ่น ให้ความเห็นกับ TIME ว่า การเสนอโครงการแลนด์บริดจ์ต่อนักลงทุนตะวันตก สะท้อนท่าทีแบบดั้งเดิมของไทยในการสร้างสมดุลทางการทูตระหว่างชาติมหาอำนาจ

โคแกนกล่าวว่า “ในโครงการแลนด์บริดจ์ หากมีนักลงทุนตะวันตก พวกเขาก็จะเรียกร้องให้มีการตรวจสอบมากขึ้นในเรื่องผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ปัจจัยกระทบที่มาจากภาคใต้ และคำถามว่าหนี้จากนักลงทุนต่างชาติจะกระทบเสถียรภาพของไทยในระยะสั้นอย่างไร”

  • ที่มา: Bloomberg, TIME

กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG