ลิ้งค์เชื่อมต่อ

เศรษฐาพบมาคร็องเจรจาหลายประเด็น - เผย 'ใช้เวลาคุ้มค่า'


ประธานาธิบดีฝรั่งเศส เอ็มมานูเอล มาคร็อง ต้อนรับนายกรัฐมนตรีไทย เศรษฐา ทวีสิน ที่ Elysee Palace วันที่ 16 พ.ค. 2567 (AFP)
ประธานาธิบดีฝรั่งเศส เอ็มมานูเอล มาคร็อง ต้อนรับนายกรัฐมนตรีไทย เศรษฐา ทวีสิน ที่ Elysee Palace วันที่ 16 พ.ค. 2567 (AFP)

นายกรัฐมนตรีไทย เศรษฐา ทวีสิน เดินทางเยือนฝรั่งเศส และได้หารือกับประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาคร็อง ที่กรุงปารีส เมื่อวันพฤหัสบดี โดยในการเยือนฝรั่งเศสเป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 3 เดือนครั้งนี้ ผู้นำไทยได้พูดคุยกับผู้นำฝรั่งเศสหลายประเด็น รวมถึงตัวประกันไทยในกาซ่า

นายกรัฐมตรีเศรษฐา มีคณะติดตามจากภาคเอกชนและเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูง เช่นประธานบริษัทปตท. และรัฐมนตรีต่างประเทศ มาริษ เสงี่ยมพงษ์ ที่เพิ่งรับตำแหน่งแทน ปานปรีย์ พหิทธานุกรที่ประกาศลาออกอย่างกะทันหัน เมื่อปลายเดือนเมษายน

สำนักนายกรัฐมนตรีไทยเปิดเผยในแถลงการณ์ว่าเศรษฐาและมาคร็อง พูดคุยกันถึงประเด็นอิสราเอลฮามาส โดยที่ "ไทยยังคงมีตัวประกันอยู่ ซึ่งยังไม่ทราบชะตากรรม ซึ่งทางประธานาธิบดีมาคร็องเห็นใจและพร้อมให้การสนับสนุนให้มีการหยุดยิงชั่วคราว" ในช่วงที่ฝรั่งเศสเป็นเจ้าภาพมหกรรมกีฬาโอลิมปิก วันที่ 26 ก.ค. - 11 ส.ค.

ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศของไทยออกเเถลงการณ์ในวันศุกร์ตามเวลาประเทศไทย ที่ระบุว่าชาวไทยที่อยู่ในการควบคุมตัวของฮามาสเสียชีวิตเพิ่ม 2 รายในกาซ่า ท่ามกลางสงครามอิสราเอล-ฮามาส

ภาพการเยือนฝรั่งเศสครั้งก่อนของนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ที่เขาได้รับการต้อนรับจากปธน.เอ็มมานูเอล มาคร็องเมื่อวันที่ 11 มื.ค. 2567
ภาพการเยือนฝรั่งเศสครั้งก่อนของนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ที่เขาได้รับการต้อนรับจากปธน.เอ็มมานูเอล มาคร็องเมื่อวันที่ 11 มื.ค. 2567

สำหรับหัวข้อที่เกี่ยวกับเมียนมา แถลงการณ์ของสำนักนายกฯ กล่าวว่า "ได้มีการพูดคุยเรื่องความคืบหน้า ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไปร่วมพูดคุยว่าไทยสนับสนุนให้มีการเจรจา เพื่อให้เกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในเมียนมา และเกิดความสงบ ซึ่งทางประธานาธิบดีมาคร็องพร้อมให้การสนับสนุนและช่วยเหลือ"

นอกจากนี้ ประเด็นที่ผู้นำไทยและฝรั่งเศสได้หารือกันครอบคลุมถึงเรื่องการผ่อนปรนการตรวจลงตราเข้าเขตประเทศกลุ่มเชงเกนสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางของไทย

ทางการไทยเปิดเผยว่าระหว่างการเดินทางเยือนฝรั่งเศส ตัวเเทนทั้งสองฝ่ายลงนามในความเข้าใจขั้นต้น หรือ MOU หลายมิติ เช่นพลังงานสะอาดและอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ

"ทางฝรั่งเศสมีข้อเสนอให้ไทยในหลายส่วน ทั้งเครื่องบิน รถถัง โดรน และความมั่นคงทางไซเบอร์ ซึ่งพลเอก ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ก็ได้มาร่วมพูดคุย โดยในภาพใหญ่มีการวางแผนพัฒนากองทัพ ในระยะเวลา 10 ปี ซึ่งได้มีการพูดคุยว่าฝรั่งเศสสามารถช่วยพัฒนากองทัพไทยได้ในส่วนไหนบ้าง รวมถึงในเรื่องการซ้อมรบ" แถลงการณ์ระบุ

นายกฯเศรษฐากล่าวก่อนเดินทางต่อไปที่เมืองมิลาน ประเทศอิตาลี ว่า“ในระยะเวลาสั้นๆ เพียงครึ่งวัน ได้พูดคุยกับประธานาธิบดีมาคร็อง 3 - 4 ชั่วโมง ซึ่งนับว่าเป็นการพูดคุยที่ได้ประโยชน์อย่างมาก นอกจากนั้น ในวันเดียวกันนี้งาน Thailand - France Business Forum ยังประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีอีกด้วย ถือว่าเป็นการใช้เวลาได้อย่างคุ้มค่า และเป็นการจบภารกิจที่ฝรั่งเศสอย่างสวยงาม”

สำหรับการเดินทางต่างประเทศครั้งนี้ เขามีกำหนดเยือนฝรั่งเศส อิตาลีและญี่ปุ่นระหว่างวันที่ 15-24 พ.ค. ซึ่งมีหนึ่งในภารกิจโดยรวมคือการเชิญชวนให้เกิดการลงทุนจากต่างประเทศมายังไทย ตามรายงานของกรุงเทพธุรกิจ

  • ที่มา: วีโอเอ เอเอฟพี กรุงเทพธุรกิจ และแถลงการณ์สำนักนายกรัฐมนตรีไทย

กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG