ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ที่ประชุมสุดยอดอาเซียนตัดสินใจให้ความสำคัญปัญหาเศรษฐกิจและโควิด-19 มากกว่าข้อพิพาทในทะเลจีนใต้


Vietnam's Industry and Trade Minister Tran Tuan Anh (C) signs as Vietnam's PM Nguyen Xuan Phuc (L) witnesses during the signing ceremony of the Regional Comprehensive Economic Partnership Agreement during the 37th ASEAN Summit in Hanoi, Nov. 15, 2020.
Vietnam's Industry and Trade Minister Tran Tuan Anh (C) signs as Vietnam's PM Nguyen Xuan Phuc (L) witnesses during the signing ceremony of the Regional Comprehensive Economic Partnership Agreement during the 37th ASEAN Summit in Hanoi, Nov. 15, 2020.
South China Sea
please wait

No media source currently available

0:00 0:04:32 0:00

ในการประชุมสุดยอดของสมาคมอาเซียนที่เพิ่งเสร็จสิ้นลงในช่วงสุดสัปดาห์ ประเทศสมาชิกของอาเซียนซึ่งมีกรณีพิพาทเรื่องดินแดนในทะเลจีนใต้กับจีนไม่ได้หยิบยกประเด็นดังกล่าวขึ้นหารือกับจีนโดยตรง และนักวิเคราะห์ก็เชื่อว่าอาเซียนตัดสินใจให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจและการจัดการกับปัญหาโควิด-19 มากกว่า

ทะเลจีนใต้นอกจากจะเป็นเส้นทางเดินเรือระหว่างประเทศที่สำคัญแล้วยังเป็นพื้นที่การประมงรวมทั้งเป็นแหล่งพลังงานใต้ทะเลอย่างมหาศาลอีกด้วยและขณะนี้มีสมาชิกของสมาคมอาเซียนสี่ประเทศคือบรูไน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์รวมทั้งเวียดนามซึ่งเป็นประธานอาเซียนปีนี้มีกรณีพิพาทเรื่องดินแดนในจุดต่างๆ ของทะเลจีนใต้อยู่กับจีน

อย่างไรก็ตามสำหรับการประชุมสุดยอดของผู้นำอาเซียนซึ่งเพิ่งเสร็จสิ้นลง การหาหรือส่วนใหญ่ระหว่างอาเซียนกับจีนดูจะมุ่งเน้นเรื่องการลงนามในข้อตกลงการค้าเสรี RCEP รวมทั้งเรื่องการรับมือในระดับระหว่างประเทศของจีนต่อวิกฤติโควิด-19 เป็นส่วนใหญ่โดยไม่มีประเทศใดที่มีข้อเสนอใหม่เพื่อแก้ปัญหาข้อพิพาทในทะเลจีนใต้อย่างจริงจัง

และนายกรัฐมนตรี Nguyen Xuan Phuc ของเวียดนามในฐานะประธานอาเซียนปีนี้ก็กล่าวถึงเรื่องทะเลจีนใต้แบบผ่านๆ ในการประชุมร่วมระหว่างอาเซียนกับจีนโดยระบุแต่เพียงว่าผู้นำของทั้งสองฝ่ายซึ่งหารือเรื่องสถานการณ์ในระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศมีความเห็นพ้องกันเกี่ยวกับความสำคัญของการทำให้อาณาบริเวณทะเลจีนตะวันออกเป็นท้องทะเลที่มีสันติภาพและความมั่นคง มีเสถียรภาพ และมีความร่วมมือซึ่งกันและกัน

นักวิเคราะห์บางคนอย่างเช่นคุณ Oh Ei Sun จากสถาบัน Singapore Institute of International Affairs ชี้ว่าท่ามกลางความยินดีเกี่ยวกับการลงนามในข้อตกลงการค้าเสรี RCEP ตนคิดว่าไม่มีใครอยากทำให้บรรยากาศดังกล่าวต้องเสียไปด้วยเรื่องทะเลจีนใต้

อย่างไรก็ตามรองศาสตราจารย์Stephen Nagy จากมหาวิทยาลัย International Christian University ที่กรุงโตเกียวมองว่าการลงนามในข้อตกลงการค้าเสรี RCEP ซึ่งมีจีนเป็นหัวเรือใหญ่แต่ละเลยการพูดถึงเรื่องทะเลจีนใต้เท่ากับเป็นการส่งสัญญาณจากสมาคมอาเซียนถึงจีนว่าการค้ามีความสำคัญมากกว่าเรื่องความมั่นคงทางทะเลและนักวิเคราะห์คนอื่นๆ ก็เชื่อว่าความไม่คืบหน้าเรื่องข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ปีนี้จะยิ่งสร้างปัญหากดดันต่อทุกประเทศในการเจรจาเพื่อลงนามในเอกสารแนวทางปฎิบัติในทะเลจีนใต้หรือ Code of Conduct ภายในปีหน้าด้วย

จีนกับสมาคมอาเซียนได้หารือเรื่อง Code of Conduct นี้มาตั้งแต่ปี 2545 โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อป้องกันเหตุการณ์กระทบกระทั่งที่ไม่คาดฝันในทะเลแต่เรื่องดังกล่าวก็ไม่คืบหน้าและเพิ่งกลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้งในปี 2559 หลังจากที่จีนแพ้คดีในศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศจากคำร้องของฟิลิปปินส์

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้จีนกับอาเซียนยังตกลงกันไม่ได้ว่าพื้นที่ส่วนใดของทะเลจีนใต้ซึ่งมีอาณาบริเวณถึง 3.5 ล้านตารางกิโลเมตรนั้นจะอยู่ภายใต้ข้อตกลง Code of Conduct ที่ว่านี้และใครจะเป็นผู้บังคับใช้ระเบียบปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากจีนกับอาเซียนลงนามในข้อตกลงฉบับนี้ได้แล้วก็มีโอกาสว่าแต่ละฝ่ายอาจจะนำข้อตกลงไปบังคับใช้แตกต่างกันทั้งนี้ตามความเห็นของอาจารย์Alexander Vuving จากศูนย์ศึกษาเรื่องความมั่นคงDaniel K. Inouye ในรัฐฮาวาย

ส่วนอาจารย์ Stephen Nagy จากมหาวิทยาลัยInternational Christian University ในกรุงโตเกียวก็เชื่อว่าวิกฤติโควิด-19 ทำให้เป็นเรื่องยากสำหรับอาเซียนที่จะให้ความสำคัญกับข้อพิพาททะเลจีนใต้มากกว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ การค้าและการเปิดรับนักท่องเที่ยวจากจีนอีกครั้ง นอกจากนั้นคุณ Oh Ei Sun จากสถาบัน Singapore Institute of International Affairs ก็เสริมว่าขณะนี้ประเทศสมาชิกอาเซียนเลือกที่จะเก็บประเด็นข้อพิพาทเรื่องทะเลจีนใต้เอาไว้ก่อนเพื่อรอดูท่าทีของประธานาธิบดีโจ ไบเดนในปีหน้าก่อน

XS
SM
MD
LG