ลิ้งค์เชื่อมต่อ

นักวิจัยใช้เสียงเรียกฝูงปลาให้กลับคืนสู่ปะการังเสื่อมโทรม


Tim Gordon deploys an underwater loudspeaker on a coral reef in Australia’s northern Great Barrier Reef. Image Credit: Harry Harding, University of Bristol
Tim Gordon deploys an underwater loudspeaker on a coral reef in Australia’s northern Great Barrier Reef. Image Credit: Harry Harding, University of Bristol

จากการทดลองทำให้นักวิจัยได้พบว่าฝูงปลากลับมาหลังจากที่ได้ยินเสียงของสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ตามแนวปะการังที่มีความอุดมสมบูรณ์ที่ถูกบันทึกไว้

นักวิทยาศาสตร์ได้ทดลองวางลำโพงใต้น้ำไว้ในบริเวณที่ปะการังเสื่อมโทรมใน Great Barrier Reef ซึ่งอยู่ทางเหนือของออสเตรเลีย และเปิดเสียงไว้เป็นระยะเวลาประมาณหกสัปดาห์เมื่อปีพ.ศ. 2560 หลังจากการศึกษาผลการทดลองนี้ นักวิทยาศาสตร์รายงานว่ามีปลากลับมาอยู่ในบริเวณ ที่มีการเปิดเสียงปะการังที่อุดมสมบูรณ์มากขึ้นถึงสองเท่า

นอกจากนี้นักวิจัยพบว่าเสียงดังกล่าวยังทำให้มีสิ่งมีชีวิตชนิดต่างๆ กลับมาอาศัยอยู่ในบริเวณนี้เพิ่มขึ้นถึง 50% และฝูงปลาที่กลับมาตามเสียงนั้นล้วนเป็นสายพันธุ์ที่เป็นห่วงโซ่อาหารที่สำคัญๆ ทั้งสิ้น

นักวิจัยตั้งข้อสังเกตถึงความสำคัญของการที่มีปลาหลากหลายชนิดกลับคืนสู่พื้นที่ปะการังเสื่อมโทรม โดยชี้ว่าปลาหลากหลายสายพันธุ์เหล่านี้ จะช่วยกันฟื้นฟูสภาพแวดล้อมของมหาสมุทรและชีวิตในทะเล และแนวปะการังที่เสียหายนั้นมีโอกาสที่จะฟื้นตัวสูงขึ้นหากมีประชากรปลาจำนวนมากและหลากหลาย

Steve Simpson ศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัย Exeter หัวหน้าการวิจัยนี้กล่าวในแถลงการณ์ว่า แนวปะการังที่อุดมสมบูรณ์นั้นจะเป็นที่ที่มีเสียงดังอึกทึกมาก โดยจะมีทั้งเสียงของกุ้ง ปลา และสัตว์ทะเลชนิดอื่นๆ ส่วนปลาเล็กๆ จะฟังเสียงเหล่านี้ในเวลาที่มองหาที่อยู่อาศัย

เขาเสริมว่าแนวปะการังที่เสื่อมโทรมนั้นเงียบสงบจนน่ากลัว เมื่อถูกทำลายด้วยมลพิษที่เกิดจาก น้ำมือมนุษย์ ปะการังที่เสียหายอาจทำให้เกิดกลิ่นและเสียงที่ไม่พึงประสงค์ ซึ่งทำให้กุ้งและปลา หายไป แต่การทดลองแสดงว่าการใช้ลำโพงใต้น้ำเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพ ในการทำให้ปลาตัว เล็กๆ กลับคืนสู่บริเวณนั้น

Mark Meekan นักชีววิทยาปลาแห่งสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเลออสเตรเลีย กล่าวว่าการกลับมา ของปลาเหล่านี้เป็นก้าวแรกของการพัฒนาสุขภาพของแนวปะการังครั้งสำคัญ และการฟื้นฟูนั้น เกิดจากการที่ฝูงปลาช่วยกันทำความสะอาดแนวปะการัง และสร้างพื้นที่สำหรับปะการังที่เกิดใหม่อีกด้วย

Tim Gordon สมาชิกของทีมวิจัยอีกคนหนึ่งจากมหาวิทยาลัย Exeter เชื่อว่าเสียงที่เปิดจะสามารถช่วยฟื้นฟูปะการังที่ตายแล้วในพื้นที่ที่ถูกทำลายอย่างรุนแรงในมหาสมุทรทั่วโลกได้ และว่าการเพิ่มประชากรปลาด้วยวิธีนี้ จะเป็นการเริ่มกระบวนการฟื้นฟูตามธรรมชาติ เพื่อรับมือกับความเสียหายที่พบเห็นในแนวปะการังหลายแห่งทั่วโลก

Andy Radford จากมหาวิทยาลัย Bristol กล่าวว่า การเปิดเสียงใต้น้ำเป็นวิธีที่ให้ความหวัง ในการต่อสู้กับความเสียหายของแนวปะการังในระดับชุมชนท้องถิ่น แต่เขาตั้งข้อสังเกตว่าภัยคุกคามอื่นๆ ซึ่งรวมถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มลพิษ และการประมงแบบเกินขีดจำกัด ควรจะต้องลดลงด้วยเช่นเดียวกัน

รายงานการศึกษาของคณะนักวิทยาศาสตร์นานาชาติรวมถึงนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Exeter และ Bristol ของประเทศอังกฤษ และมหาวิทยาลัย James Cook ของประเทศออสเตรเลียเกี่ยวกับเรื่องนี้ ถูกตีพิมพ์อยู่ในวารสาร Nature Communications

XS
SM
MD
LG