ลิ้งค์เชื่อมต่อ

การสูบบุหรี่จัดเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นโรคมะเร็งไตระยะสุดท้าย


การสูบบุหรี่จัดเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นโรคมะเร็งไตระยะสุดท้าย
การสูบบุหรี่จัดเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นโรคมะเร็งไตระยะสุดท้าย

รายงานวิจัยทางการแพทย์ชิ้นใหม่ชี้ว่า ผู้ที่ยิ่งสูบบุหรี่จัดคือวันละมากกว่า 1-2 ซองมานานก็ยิ่งมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตจากโรคที่เกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่เพิ่มขึ้น ซึ่งหนึ่งในนั้นคือโรคมะเร็งที่ไต

องค์การอนามัยโลกระบุว่าในแต่ละปี มีประชากรโลกเสียชีวิตจากสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่อย่างน้อย 7 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 1 ใน 10 ของประชากรวัยผู้ใหญ่ทั่วโลก และ WHO ยังคาดการณ์ไว้ด้วยว่าเกือบครึ่งหนึ่งของผู้ที่สูบบุหรี่อยู่ในปัจจุบันจะเสียชีวิตจากโรคที่เกี่ยวกับบุหรี่รวมถึงโรคมะเร็งไต

Dr. Thomas Polascik แห่งสถาบันมะเร็งมหาวิทยาลัย Duke ระบุว่าสารพิษจากบุหรี่จะเข้าสู่ร่างกายไปยังปอด กระแสเลือด และลามไปถึงไต ซึ่งอาจก่อให้เกิดเนื้องอกขนาดใหญ่ก่อนที่แพทย์จะตรวจพบ หรือจนกว่าผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บปวดผิดปกติและอาจมีเลือดปนในน้ำปัสสาวะ คุณหมอเล่าว่าบ่อยครั้งที่ผู้ป่วยมายังห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลเพราะมีอาการปวดท้องหรืออาหารไม่ย่อย ก่อนที่แพทย์จะใช้เครื่อง MRI หรือ CT scan ตรวจพบว่าเป็นก้อนเนื้องอก

รายงานบางชิ้นก่อนหน้านี้ระบุถึงความเกี่ยวข้องระหว่างการสูบบุหรี่กับมะเร็งไต แต่เมื่อนักวิจัยที่มหาวิทยาลัย Duke ศึกษาประวัติการแพทย์ของผู้ป่วยมากกว่า 800 คนที่เข้ารับการผ่าตัด พบว่ามีบางอย่างที่น่ากลัวกว่านั้นคือการก่อตัวของโรคมะเร็งไตระยะสุดท้าย

Dr. Polascik กล่าวว่าผู้ป่วยโรคมะเร็งไตแยกได้เป็น 3 กลุ่ม คือกลุ่มผู้สูบบุหรี่อยู่ในปัจจุบัน กลุ่มผู้ที่เคยสูบบุหรี่แต่เลิกไปแล้วและกลุ่มผู้ที่ไม่เคยสูบบุหรี่เลย สำหรับปัจจัยที่นำมาพิจารณาความเสี่ยงของโรคมะเร็งไตระยะสุดท้ายนั้นมี 2 ข้อ หนึ่งคือปริมาณบุหรี่ที่สูบในแต่ละวันและสองคือระยะเวลาตั้งแต่เริ่มสูบบุหรี่เป็นต้นมา

Dr. Polascik ชี้ว่าผู้ที่สูบบุหรี่มานานราว 10 ปีจะมีความเสี่ยงราว 6% แต่ถ้าสูบมานาน 20-30 ปี ความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นเป็น 45% แต่ทั้งนี้ต้องพิจารณาปริมาณบุหรี่ที่สูบด้วย เพราะหากสูบบุหรี่ปีละมากกว่า 30-40 ซอง ความเสี่ยงของโรคมะเร็งไตจะเพิ่มเป็น 80% เทียบกับผู้ที่ไม่สูบบุหรี่เลย อย่างไรก็ตามในกรณีของผู้ที่เลิกสูบบุหรี่มานานหลายสิบปี นักวิจัยผู้นี้บอกว่าความเสี่ยงจะลดลงจนอาจอยู่ในระดับเดียวกับผู้ที่ไม่เคยสูบบุหรี่เลย

Dr. Polascik กล่าวว่าผลการวิจัยครั้งนี้อาจช่วยเพิ่มแรงจูงใจให้ผู้ที่กำลังสูบบุหรี่อยู่ตัดสินใจเลิกบุหรี่ได้อย่างเด็ดขาด เพราะยิ่งเลิกเร็วเท่าไหร่ก็หมายถึงมีโอกาสเป็นโรคมะเร็งไตน้อยลงเท่านั้น นักวิจัยผู้นี้ยังบอกด้วยว่า ในอดีตผู้ป่วยโรคมะเร็งไตระยะสุดท้ายมีโอกาสรอดชีวิตไปอีก 5 ปีเพียง 8% เท่านั้น แต่หลังจากมีเครื่อง MRI และ CT scan ช่วยให้การตรวจพบเนื้องอกในไตทำได้ตั้งแต่เนิ่นๆ ช่วยลดโอกาสที่ผู้ป่วยจะเสียชีวิต

คุณหมอชี้ว่าเมื่อพบเนื้องอกตั้งแต่ยังก้อนเล็กๆ แพทย์จะสามารถผ่าตัดออกได้และผู้ป่วยมีโอกาสรอดชีวิตราว 90-95% ซึ่งเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูง อย่างไรก็ตามนักวิจัยที่มหาวิทยาลัย Duke ชี้ว่ายังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมในเรื่องนี้ โดยเฉพาะประเด็นที่ว่าสารในบุหรี่มีผลให้เกิดเนื้องอกในร่างกายได้อย่างไร

สำหรับรายงานชิ้นนี้ตีพิมพ์อยู่ในวารสาร Clinical Oncology


XS
SM
MD
LG