ลิ้งค์เชื่อมต่อ

คณะกรรมการแม่น้ำโขง (MRC) เตรียมประชุมสัปดาห์นี้ชี้อนาคตเขื่อนไซยบุรีในลาว ท่ามกลางการต่อต้านของนักอนุรักษ์


Xayaburi Dam (google.com)
Xayaburi Dam (google.com)
please wait

No media source currently available

0:00 0:03:20 0:00
Direct link

สัปดาห์นี้ เจ้าหน้าที่จากกัมพูชา ลาว เวียดนามและไทย จะร่วมหารือเรื่องผลกระทบของการสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำในบริเวณลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง ขณะที่นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมีรายงานสรุปว่า โครงการก่อสร้างเขื่อนไซยบุรีในประเทศลาว จะทำลายชุมชนตามลุ่มแม่น้ำที่ต้องพึ่งพาแม่น้ำโขงในการดำรงชีวิต

ก่อนการประชุมคณะกรรมการแม่น้ำโขงหรือ MRC จะเริ่มขึ้นในสัปดาห์นี้ องค์กรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม 39 แห่งได้มีแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลลาวระงับการก่อสร้างเขื่อนไซยบุรีก่อนเดือน ก.พ ปีหน้า นอกจากนี้ยังขอให้รัฐบาลไทยยกเลิกข้อตกลงซื้อไฟฟ้าที่ผลิตจากเขื่อนดังกล่าว

เขื่อนไซยบุรีคือโครงการแรกในจำนวนโครงการก่อสร้างเขื่อน 11 แห่งในแถบลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับเงินสนับสนุนจากไทย มูลค่า 3,800 ล้านดอลล่าร์ เป้าหมายเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าป้อนตลาดในประเทศไทย ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่จาก 4 ประเทศคือกัมพูชา ลาว เวียดนามและไทย ได้ประชุมกันหลายครั้งเพื่อหารือเรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวลด้อมจากการก่อสร้างเขื่อนไซยบุรี รวมทั้งผลกระทบที่มีต่อประชาชนราว 60 ล้านคนที่ต้องอาศัยแม่น้ำโขงเป็นแหล่งอาหารและการดำรงชีพ

คุณ Marc Goichot ผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตพลังงานจากน้ำแห่งองค์กร World Wildlife Fund ชี้ว่าต้องใช้เวลานานกว่านี้ในการศึกษาผลกระทบของเขื่อนในลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง โดยระบุว่ากระแสไฟฟ้าที่ได้จากเขื่อนไซยบุรีถือเป็นสัดส่วนน้อยมาก คือเพียง 2% ของปริมาณความต้องการไฟฟ้าทั้งหมดในประเทศไทย ยิ่งไปกว่านั้นไทยมิได้ต้องการไฟฟ้าจากเขื่อนแห่งนี้จนกว่าจึงปี พ.ศ 2569 หรืออีก 12 ปีข้างหน้า จึงถือว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน

ผู้เชี่ยวชาญจาก World Wildlife Fund ผู้นี้บอกด้วยว่า การระงับการก่อสร้างเขื่อนไซยบุรีไว้ชั่วคราวจะช่วยให้ทุกฝ่ายมีเวลาศึกษาผลกระทบด้านต่างๆ ได้อย่างถี่ถ้วนยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ดี ดูเหมือนการก่อสร้างเขื่อนไซยบุรีนี้ได้เริ่มต้นไปแล้วบางส่วน โดยไม่ฟังเสียงคัดค้านจากประเทศที่อยู่ปลายน้ำอย่างเวียดนามและกัมพูชา บรรดานักอนุรักษ์จึงกำลังพยายามอย่างยิ่งที่จะหยุดการก่อสร้างดังกล่าวให้ได้ ก่อนที่จะเริ่มมีการสร้างทำนบชั่วคราวที่จะใช้ผันกระแสน้ำไปทางอื่นเพื่อลงมือสร้างเขื่อนจริง ซึ่งทาง World Wildlife Fund บอกว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการทำลายระบบนิเวศน์ของแม่น้ำโขงอย่างถาวร โดยกำหนดการเริ่มสร้างทำนบชั่วคราวคือเดือน ก.พ ปีหน้า

ข้อตกลงแม่น้ำโขง ซึ่งทั้ง 4 ประเทศได้ร่วมลงนามเมื่อ 19 ปีที่แล้ว ระบุไว้ว่าแต่ละประเทศไม่สามารถเริ่มการก่อสร้างใดๆ หากไม่ได้รับความยินยอมร่วมกันจากอีก 3 ประเทศ โดยเมื่อการประชุม MRC ครั้งสุดท้าย รัฐบาลเวียดนามและกัมพูชาได้ขอให้ระงับการก่อสร้างเขื่อนไซยบุรีไปอีก 10 ปี หรือจนกว่าจะมีการศึกษาผลกระทบของการก่อสร้างเขื่อนแห่งนี้อย่างถูกต้องครบถ้วนเสียก่อน

รายงานจาก Gabrielle Paluch / เรียบเรียงโดยทรงพจน์ สุภาผล
XS
SM
MD
LG