ลิ้งค์เชื่อมต่อ

นักวิทย์ประสบความสำเร็จแช่แข็ง ‘เกรตแบร์ริเออร์รีฟ’ ใช้ปลุกชีพปะการังในอนาคต


Mary Hagedorn and Taronga Conservation Society scientist Jonathon Daly observe coral at AIMS in Townsville, Australia December 12, 2022.
Mary Hagedorn and Taronga Conservation Society scientist Jonathon Daly observe coral at AIMS in Townsville, Australia December 12, 2022.

นักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่งที่ทำงานวิจัยเกี่ยวกับแนวปะการัง Great Barrier Reef ของออสเตรเลียประสบความสำเร็จในการทดสอบวิธีการใหม่ในการแช่แข็งและเก็บตัวอ่อนของปะการัง ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่ใช้ชีวิตอยู่ในมหาสมุทรบนโลกนี้เอาไว้ได้แล้ว

แนวปะการังนั้นก่อตัวขึ้นมาจากการเติบโตของปะการัง ซึ่งเป็นโครงสร้างที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศในมหาสมุทรทั้งหมด แต่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกลายมาเป็นภัยคุกคามการดำรงอยู่ของแนวปะการังต่าง ๆ

โครงการวิทยาศาสตร์ในออสเตรเลียได้ทดลองแช่แข็งและเก็บตัวอ่อนของปะการังเพื่อใช้ในการฟื้นฟูระบบนิเวศในภายหลัง โดยใช้เทคโนโลยีใหม่ที่เรียกว่า "ไครโอเมช" (cryomesh)

ตามปกติแล้วปะการังจะถูกแช่แข็งด้วยวิธีพิเศษที่เรียกว่าไครโอเจนิกส์ ซึ่งเป็นวิธีการที่เก็บสัตว์ที่อายุน้อยเอาไว้จนกว่าน้ำแข็งจะละลายและนำพวกมันไปปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ แต่ในปัจจุบันกระบวนการนี้ต้องใช้อุปกรณ์ไฮเทครวมถึงเลเซอร์ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง ซึ่งทีมวิจัยในออสเตรเลียกล่าวว่า ไครโอเมชสามารถเก็บรักษาปะการังได้ดีกว่าและมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่ามาก

นักวิทยาศาสตร์ใช้ไครโอเมชในการแช่แข็งตัวอ่อนของปะการัง Great Barrier Reef ที่สถาบัน Australian Institute of Marine Sciences หรือ AIMS โดยเจ้าหน้าที่จะเก็บปะการังในระยะสืบพันธุ์ประจำปีที่เป็นช่วงเวลาสั้น ๆ

Mary Hagedorn works with modern-mesh technology in liquid nitrogen at AIMS in Townsville, Australia December 14, 2022. (REUTERS/Jill Gralow)
Mary Hagedorn works with modern-mesh technology in liquid nitrogen at AIMS in Townsville, Australia December 14, 2022. (REUTERS/Jill Gralow)

แมรี ฮาเกดอร์น (Mary Hagedorn) นักวิทยาศาสตร์วิจัยอาวุโสที่สวนสัตว์แห่งชาติสมิธโซเนียนและสถาบันชีววิทยาเพื่อการอนุรักษ์ ได้พูดคุยกับรอยเตอร์จากห้องปฏิบัติการของสถาบัน AIMS โดยอธิบายว่า หากคนเราสามารถรักษาความหลากหลายทางชีวภาพของปะการังได้ เราก็จะมีเครื่องมือที่ช่วยฟื้นฟูแนวปะการังได้อย่างแท้จริงในอนาคต และระบุว่า “เทคโนโลยีสำหรับแนวปะการังในอนาคต คือ ตัวพลิกเกมอย่างแท้จริง”

ก่อนหน้านี้ มีการทดสอบไครโอเมชกับปะการังฮาวายทั้งขนาดใหญ่และเล็ก ซึ่งการทดสอบกับประการังขนาดใหญ่กว่านั้นประสบความล้มเหลวไป และในปัจจุบัน นักวิจัยกำลังทำการทดสอบกับแนวปะการัง Great Barrier Reef ที่มีขนาดใหญ่กว่าเดิมอยู่

สำหรับการทดสอบดังกล่าวนี้ มีนักวิทยาศาสตร์จากหลายองค์กรที่มีส่วนเกี่ยวข้อง อาทิ สถาบัน AIMS สวนสัตว์แห่งชาติและสถาบันชีววิทยาการอนุรักษ์สมิธโซเนียน มูลนิธิ Great Barrier Reef และสมาคม Taronga Conservation Society ของออสเตรเลีย โดยทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่งของโครงการฟื้นฟูและปรับตัวของแนวปะการัง (Reef Restoration and Adaptation Program)

ทั้งนี้ แนวปะการัง Great Barrier Reef ประสบปัญหาภาวะฟอกขาวถึงสี่ครั้งในช่วงเจ็ดปีที่ผ่านมา ซึ่งรวมถึงการฟอกขาวครั้งแรกในช่วงที่เกิดสภาพอากาศลานีญา ที่มักจะทำให้อุณหภูมิเย็นลง

This May 2016 photo provided by NOAA shows bleaching and some dead coral around Jarvis Island, which is part of the U.S. Pacific Remote Marine National Monument.
This May 2016 photo provided by NOAA shows bleaching and some dead coral around Jarvis Island, which is part of the U.S. Pacific Remote Marine National Monument.

การฟอกขาวของปะการังจะเกิดขึ้นเมื่อเกิดภาวะอุณหภูมิปรับขึ้นหรือลดลงแบบสุดโต่งมาผนวกกับแสงแดดและบังคับให้ปะการังปล่อยสาหร่ายที่อาศัยอยู่ในเนื้อเยื่อของพวกมันออก ส่งผลให้ปะการังสูญเสียสีและเปลี่ยนเป็นสีขาวจนทำให้ปะการังอ่อนแอลงอย่างมากและตายลงในที่สุด

  • ที่มา: รอยเตอร์
XS
SM
MD
LG