ลิ้งค์เชื่อมต่อ

นักวิจัยใช้ดาวเทียม-เลเซอร์ ช่วยประเมินมวลหิมะ ในพื้นที่ประสบภัยแล้ง


ภาพขณะนักวิจัยทำการขุดวัดความลึกของหิมะ
ภาพขณะนักวิจัยทำการขุดวัดความลึกของหิมะ

ปริมาณหิมะที่ตกบนเทือกเขาร็อกกี ในรัฐโคโลราโด ลดลงอย่างรุนแรงในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ส่งผลให้มีปริมาณน้ำสำหรับการยังชีพลดน้อยลงในพื้นที่แห้งแล้ง

โนอาห์ โมลอท์ช นักวิจัยหิมะที่สถาบันวิจัย Arctic and Alpine แห่งมหาวิทยาลัยโคโลราโด
โนอาห์ โมลอท์ช นักวิจัยหิมะที่สถาบันวิจัย Arctic and Alpine แห่งมหาวิทยาลัยโคโลราโด

โนอาห์ โมลอท์ช (Noah Molotch) นักวิจัยหิมะที่สถาบันวิจัย Arctic and Alpine แห่งมหาวิทยาลัยโคโลราโดกล่าวว่า ทางฝั่งตะวันตกของสหรัฐฯ ประชากร 60 ล้านคนต้องอาศัยน้ำจากหิมะที่ละลาย และทั่วโลกก็มีประชากรมากกว่าหนึ่งพันล้านคนเล็กน้อยที่ต้องพึ่งพาน้ำจากแหล่งเดียวกันนี้

ทั้งนี้ โมลอท์ชใช้เทคโนโลยีการสำรวจระยะไกลเพื่อประเมินปริมาณน้ำที่จะสามารถใช้ได้เมื่อหิมะละลายลง และข้อมูลที่ประมวลออกมาจะนำเสนอผลที่หน้าจอคอมพิวเตอร์และแสดงให้เห็นความเข้มของแถบสี โดยแถบสีน้ำเงินเข้มจะแสดงถึงบริเวณที่มีปริมาณหิมะมากกว่า ส่วนสีน้ำเงินที่อ่อนกว่าแสดงถึงปริมาณหิมะที่น้อยกว่า

หน้าจอคอมพิวเตอร์แสดงผลลัพธ์การสำรวจความลึกหิมะจากระยะไกล
หน้าจอคอมพิวเตอร์แสดงผลลัพธ์การสำรวจความลึกหิมะจากระยะไกล

นอกจากนี้ การใช้ภาพถ่ายจากดาวเทียม การสร้างแบบจำลองด้วยคอมพิวเตอร์ และการสำรวจหิมะบนพื้นดิน ยังช่วยให้โมลอท์ชและทีมวิจัยของเขาสามารถพัฒนาความแม่นยำของการพยากรณ์การละลายของหิมะให้แม่นยำยิ่งขึ้นได้อีกด้วย

ทั้งนี้ ข้อมูลที่มีการประมวลเป็นสิ่งที่มีสำคัญมากสำหรับผู้บริหารจัดการน้ำเพื่อใช้ในการตัดสินใจเกี่ยวกับปริมาณน้ำและเวลาที่จะปล่อยน้ำออกจากเขื่อน

หิมะริมน้ำที่กำลังละลาย
หิมะริมน้ำที่กำลังละลาย

โมลอทช์ รองศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยโคโลราโด กล่าวว่า เมื่อมีการพัฒนาความแม่นยำของการพยากรณ์ให้ดีขึ้น ประสิทธิภาพในการจัดสรรน้ำก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ซึ่งโดยพื้นฐานแล้วก็เปรียบเสมือนการนำน้ำที่สามารถใช้ได้เข้าสู่ระบบได้มากขึ้น

ภาพแสดงการทำงานของเครื่องบินเพื่อจัดทำแผนที่หิมะ
ภาพแสดงการทำงานของเครื่องบินเพื่อจัดทำแผนที่หิมะ

นอกจากนี้แล้ว นวัตกรรมอีกอย่างหนึ่งก็คือการทำแผนที่หิมะจากเครื่องบิน โดยเครื่องบินที่พัฒนาขึ้นโดยองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือ นาซ่า ใช้ Lidar ซึ่งเป็นเครื่องสแกนเลเซอร์ประเภทหนึ่งในการวัดปริมาณหิมะบนพื้นผิวโลก

จากนั้น หากใช้ความสูงของหิมะที่วัดได้ในฤดูร้อน แล้วลบออกจากความสูงของหิมะที่วัดได้ในฤดูหนาว ก็จะทำให้สามารถวัดความตื้นลึกของหิมะได้โดยตรงด้วย

การวัดความลึกหิมะด้วยมือ
การวัดความลึกหิมะด้วยมือ

อย่างไรก็ตาม การวัดปริมาณหิมะด้วยตนเองโดยการใช้เครื่องมือในการวัดนั้นก็ยังคงให้ข้อมูลที่สำคัญอยู่ เนื่องจากความหนาแน่นของน้ำแตกต่างกันอย่างมากในเนื้อหิมะ แต่เพราะสถานที่ที่ทีมวิจัยสามารถเข้าถึงได้ยังคงจำกัดอยู่ การเพิ่มข้อมูลการสำรวจระยะไกลเข้าไปจะช่วยให้ได้ภาพที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

ขณะเดียวกัน การที่การเปลี่ยนแปลงของสภาพของภูมิอากาศกระทบรูปแบบการเก็บข้อมูลและวิเคราะห์ที่มีการกำหนดไว้ การคาดการณ์ปริมาณน้ำที่จะได้จากหิมะอย่างแม่นยำจึงมีความสำคัญมากขึ้นในการตอบสนองความต้องการของผู้คนจำนวนมากที่ต้องพึ่งพาน้ำจากหิมะที่ละลายลง

  • ที่มา: วีโอเอ

กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG