ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา กรุงลอนดอนคือแหล่งดึงดูดเศรษฐีชาวรัสเซียให้เข้าไปลงทุนหรือซื้อที่อยู่อาศัย เนื่องจากมีกฏหมายและระบบความปลอดภัยที่เอื้ออำนวยต่อคนเหล่านั้นมากกว่าในรัสเซีย แต่ขณะนี้อนาคตของบรรดาเศรษฐีหรือผู้มีอำนาจของรัสเซียในประเทศอังกฤษเริ่มไม่แน่นอน หลังจากอังกฤษกำลังจะใช้มาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจต่อรัสเซีย เพื่อตอบโต้ที่รัสเซียพยายามผนวกแคว้นไครเมีย
ในย่านคนมีสตางค์ในกรุงลอนดอน เช่นย่าน Kensington หรือ Chelsea มีถนนที่ตั้งชื่อตามเมืองใหญ่ๆ ในรัสเซีย เช่นถนน Moscow หรือถนน St. Petersburg รวมทั้งย่านที่รู้จักกันในชื่อ Londongrad ซึ่งเป็นสถานที่อยู่อาศัยของเศรษฐีจากรัสเซีย
คุณ Nicholas Redman แห่ง International Institute for Strategic Studies ชี้ว่า สาเหตุที่เศรษฐีชาวรัสเซียทยอยมาซื้อบ้านอยู่ในอังกฤษ เป็นเพราะรู้สึกว่าปลอดภัยกว่าในรัสเซีย นักวิเคราะห์ผู้นี้บอกว่า อังกฤษมีระบบศาลที่แข็งแกร่ง มีระบบสิทธิครอบครองทรัพย์สินที่ก้าวหน้ากว่ารัสเซีย ผู้มีอันจะกินในรัสเซียจึงประสงค์ที่จะมีบ้านไว้ในลอนดอนเพื่อความรู้สึกปลอดภัยในทรัพย์สินกว่าอยู่ในรัสเซีย
นอกจากนี้บริษัทใหญ่ๆ ในรัสเซียต่างใช้อังกฤษเป็นศุนย์กลางธุรกิจและการลงทุนไปทั่วโลก โดยปัจจุบันมีบริษัทรัสเซียเกือบ 70 บริษัทที่มีชื่ออยู่ในตลาดหุ้นกรุงลอนดอน รวมทั้งบริษัทพลังงานขนาดใหญ่อย่าง Rosneft และ Gazprom แต่ความมั่นคงปลอดภัยดังกล่าวกำลังกลายเป็นความไม่แน่นอน เมื่ออังกฤษเตรียมใช้มาตรการลงโทษเศรษฐกิจที่หนักกว่าเดิมต่อรัสเซีย หากรัสเซียรุกคืบเข้าไปในยูเครน ทำให้เกิดความกังวลในกลุ่มบริษัทรัสเซียที่ลงทุนอยู่ในอังกฤษ
ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในกรุงลอนดอนเป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่ชาวรัสเซียชื่นชอบ คุณ Ed Mead ผู้บริหารบริษัทนายหน้าค้าบ้านในกรุงลอนดอน Douglas and Gordon ระบุว่ากฏหมายอังกฤษอนุญาตให้ชาวต่างชาติซื้ออสังหาริมทรัพย์ได้โดยอาจซื้อในชื่อบริษัทซึ่งไม่ต้องเปิดเผยชื่อตนเอง ทำให้เป็นที่ชื่นชอบของบรรดาเศรษฐีรัสเซีย
นักวิเคราะห์เชื่อว่า การที่รัฐบาลรัสเซียยังต้องพึ่งพาการสนับสนุนจากเศรษฐีและผู้มีอำนาจชาวรัสเซียผู้ที่ต่างมีเม็ดเงินหรือทรัพย์สินมหาศาลอยู่ในกรุงลอนดอน อาจทำให้ ปธน.Vladimir Putin ต้องขบคิดหนักหากจะบุกคืบหน้าลึกเข้าไปในยูเครน
คุณ Nicholas Redman แห่ง International Institute for Strategic Studies ชี้ว่าหากชาวรัสเซียผู้มีอำนาจและมีเงินเหล่านั้นไม่เห็นด้วย เพราะเกรงว่าทรัพย์สินของพวกเขาจะสูญสลายไป หรือหากคนเหล่านั้นไม่ได้รับการต้อนรับอย่างดีในลอนดอนเหมือนที่เคยเป็นมา ก็อาจมีผลสั่นคลอนความจงรักภักดีที่พวกเขามีต่อรัสเซียได้
ถึงกระนั้น คุณ Elizabeth Stephens แห่งบริษัทขายประกัน Jardine Lloyd Thompson เชื่อว่าผลกระทบของมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจต่อรัสเซีย จะยังไม่แสดงออกมาในระยะสั้นแน่นอน คุณ Stephens ระบุว่าจากตัวอย่างในอดีต เช่นกับอิหร่านหรืออิรัก จะเห็นได้ว่าต้องใช้เวลาหลายปีกว่าที่มาตรการลงโทษเหล่านั้นจะแสดงผล ซึ่งกว่าจะถึงตอนนั้นเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปก็อาจได้รับผลกระทบจากมาตรการลงโทษเองเสียก่อน
เวลานี้รัฐบาลต่างๆ ทั่วยุโรปรวมทั้งอังกฤษกำลังหารืออย่างหนักถึงผลได้-ผลเสีย จากมาตรการลงโทษที่จะมีต่อรัสเซีย รวมทั้งผลกระทบต่อเศรษฐกิจกรุงลอนดอนด้วย
รายงานจาก Henry Ridgwell / เรียบเรียงโดยทรงพจน์ สุภาผล