ลิ้งค์เชื่อมต่อ

กลุ่มเคลื่อนไหวด้านสิทธิ์เรียกร้องรัฐบาลไทยไม่ให้ส่งตัวชาวมุสลิมอุยกูร์กลับจีน


FILE - A woman wears a face mask reading 'Free Uyghurs' as she attends a protest during the visit of Chinese Foreign Minister Wang Yi in Berlin, Sept. 1, 2020.
FILE - A woman wears a face mask reading 'Free Uyghurs' as she attends a protest during the visit of Chinese Foreign Minister Wang Yi in Berlin, Sept. 1, 2020.

กลุ่มเคลื่อนไหวด้านสิทธิ์ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลไทยไม่ส่งตัวชาวมุสลิมอุยกูร์จำนวนกว่า 50 คน ที่ถูกควบคุมตัวอยู่ในประเทศไทยมาตลอดช่วง 8 ปีที่ผ่านมา กลับไปยังประเทศจีน เนื่องจากกลัวจะเกิดเหตุประวัติศาสตร์ซ้ำรอย อย่างที่เกิดขึ้นเมื่อรัฐบาลไทยจับตัวชาวอุยกูร์กว่า 100 คนขึ้นเครื่องกลับจีนเมื่อปี ค.ศ. 2015

รายงานข่าวระบุว่า ทางการไทยทำการควบคุมตัวชาวมุสลิมอุยกูร์ไม่น้อยกว่า 50 คนไว้ในศูนย์กักตัวของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองที่มีอยู่ทั่วประเทศ โดยส่วนใหญ่ถูกจับตั้งแต่เมื่อปี ค.ศ. 2014

THAILAND-ROHINGYA/
THAILAND-ROHINGYA/

สหรัฐฯ และหลายประเทศกล่าวหารัฐบาลกรุงปักกิ่งว่า ทำการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชนกลุ่มน้อยที่นับถือศาสนาอิสลามและอาศัยอยู่ในเขตปกครองตนเองทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีน และเรียกร้องให้ประเทศทั้งหลายที่มีชาวอุยกูร์หลบหนี้เข้าไปหาความปลอดภัยไม่ให้ส่งตัวคนเหล่านั้นกลับ ขณะที่ ปักกิ่งยืนยันว่า ไม่ได้ทำการข่มเหงรังแกชนกลุ่มน้อยที่ว่านี้เลย

ในส่วนของประเทศไทยนั้น กลุ่มพิทักษ์สิทธิ์หลายสิบกลุ่ม ซึ่งนำโดยมูลนิธิศักยภาพชุมชน (People’s Empowerment Foundation) ร่วมกันยื่นหนังสือต่อคณะกรรมาธิการด้านกิจการต่างประเทศของรัฐสภาเมื่อวันที่ 15 มิถุนายนที่ผ่านมา เพื่อขอความช่วยเหลือพิจารณาหนทางยุติแผนส่งกลับชาวมุสลิมอุยกูร์ที่ว่านี้

ชลิดา ทาเจริญศักด์ ผู้อำนวยการมูลนิธิแห่งนี้ บอกกับผู้สื่อข่าว วีโอเอ เมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า สิ่งที่ทุกกลุ่มสื่อไปยังสมาชิกรัฐสภาที่ก็คือ การรับประกันความปลอดภัยของคนกลุ่มนี้ขณะที่อยู่ในประเทศไทย และต้องไม่มีการส่งตัวชาวอุยกูร์กลับจีน พร้อมเปิดเผยว่า กลุ่มเคลื่อนไหวด้านสิทธิ์ที่สนับสนุนเรื่องนี้ออกมาเรียกร้องขอความเห็นใจจากรัฐบาลหลังจากมีแหล่งข่าวลับที่เห็นใจคนกลุ่มดังกล่าวแจ้งให้ทราบว่า รัฐบาลกรุงปักกิ่งอาจกำลังเร่งทำการประสานงานการส่งตัวชาวอุยกูร์ที่ยังถูกควบคุมตัวในไทยกลับในเร็ว ๆ นี้

วีโอเอ ได้ติดต่อไปยังกระทรวงการต่างประเทศจีนและสถานทูตจีนในกรุงเทพเพื่อขอข้อมูล แต่ทั้งหมดปฏิเสธที่จะให้ความเห็น

สุนัย ผาสุก นักวิจัยอาวุโส ของ Human Rights Watch ประจำประเทศไทย ซึ่งสนับสนุนการยื่นเรื่องขอความช่วยเหลือชาวอุยกูร์ต่อรัฐสภาไทย กล่าวว่า ทางกลุ่มได้ทำการติดตามรวบรวมข้อมูลหลักฐานมาได้มากมายในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชนของชาวอุยกูร์โดยเจ้าหน้าที่ทางการจีน ซึ่งมีทั้งการจับกุมคุมขังโดยพลการและการอุ้มหาย (forced disappearance) การทรมานและการกดขี่ข่มเหงในรูปแบบต่าง ๆ พร้อมระบุว่า “ที่ชัดเจนก็คือ ทางการจีนได้เปลี่ยนซินเจียง ให้กลายมาเป็นค่ายคุมขังแล้ว”

นักวิจัยอาวุโส ของ Human Rights Watch รายนี้ยังแสดงความกังวลด้วยว่า ไทยอาจนำส่งชาวอุยกูร์ที่คุมขังอยู่กลับจีนทันทีที่รัฐบาลจีนยกเลิกมาตรการควบคุมการระบาดของโควิด-19 โดยกล่าวว่า ทางการไทยยังไม่ได้ออกมารรับประกันอย่างชัดเจนว่า จะไม่นำส่งกลุ่มคนเหล่านี้กลับจีน อย่างเช่นที่เคยทำเมื่อปี ค.ศ. 2015 ดังนั้น ชาวอุยกูร์เหล่านี้ยังคงอยู่ในภาวะเสี่ยงอันตรายที่จวนตัวขึ้นมาทุกที

ชลิดา ทาเจริญศักด์ ผู้อำนวยการมูลนิธิศักยภาพชุมชน กล่าวว่า ชาวอุยกูร์ส่วนใหญ่ที่ถูกคุมขังอยู่ในไทยเวลานี้ คือ ส่วนหนึ่งของกลุ่มที่หลบหนีเข้าไทยโดยผิดกฎหมายและถูกจับกุมเมื่อปี ค.ศ. 2014 หลังหลบหนีออกมาจากประเทศจีนเพื่อหาที่ ๆ ปลอดภัยกว่า และชาวอุยกูร์จำนวนมากตั้งใจจะเดินทางไปยังประเทศตุรกี ซึ่งชนกลุ่มนี้อ้างว่า ยังมีเครือญาติอาศัยอยู่ หรือไม่ก็ประเทศที่นับถือศาสนาอิสลามเป็นศาสนาหลัก หรือแม้แต่ประเทศในตะวันตกต่าง ๆ

เมื่อเดือนกรกฎาคม ปี ค.ศ. 2015 ทางการไทยนำตัวชาวมุสลิมอุยกูร์จำนวน 173 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสตรีและเด็ก ส่งไปยังตุรกี และอีก 1 สัปดาห์ต่อมา ทำการนำส่งชาวอุยกูร์อีก 109 คน โดยส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย กลับไปยังประเทศจีน ซึ่งการดำเนินการในครั้งนั้นนำมาซึ่งการประณามมากมายจากทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ เช่น ในประเทศตุรกี ที่ประชาชนซึ่งโกรธแค้นในเรื่องนี้พากันมาบุกสถานกงสุลไทย และทำลายกระจกหน้าต่างรวมทั้งชักธงไทยลงจากเสาด้วย

ในเวลานั้น รัฐบาลไทยระบุว่า ยังมีชาวอุยกูร์อีกราว 50 คนที่ยังถูกคุมขังในประเทศ เพื่อรอการตรวจสอบสัญชาติ และนับจนถึงวันนี้ ยังไม่มีรายงานว่า ทางการไทยนำส่งตัวคนเหล่านี้กลับประเทศเพิ่มเติมแต่อย่างใด

ผู้สื่อข่าว วีโอเอ พยายามสอบถามไปยังกระทรวงการต่างประเทศของไทยและสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ซึ่งขึ้นตรงต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติและดูแลศูนย์ควบคุมตัวที่กักตัวชาวอุยกูร์ทั้งหลายอยู่ เกี่ยวกับตัวเลขผู้ที่ถูกคุมตัวอยู่ แต่ไม่มีฝ่ายใดยืนยันข้อมูลดังกล่าวมา

อย่างไรก็ดี ผู้อำนวยการมูลนิธิศักยภาพชุมชน บอกกับ วีโอเอ ว่า แหล่งข่าวภายในรัฐบาลไทยและศูนย์ควบคุมตัวทั้งหลายเปิดเผยว่า ตัวเลขชาวอุยกูร์ที่ยังอยู่ในความควบคุมของทางการไทยอยู่ที่ราว 56 คน

โรม รังสิมันต์ สมาชิกพรรคฝ่ายค้าน ซึ่งเป็นตัวแทนรับหนังสือจากกลุ่มเคลื่อนไหวด้านสิทธิ์เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน ยืนยันกับ วีโอเอ ว่า ตัวเลขดังกล่าวนั้นถูกต้อง และเปิดเผยว่า ได้รับทราบข้อมูลนี้จากเจ้าหน้าที่รัฐบาลที่เดินทางมาให้ข้อมูลกับคณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎรด้านกฎหมาย ยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน ที่ตนเป็นสมาชิกอยู่

สมาชิกฝ่ายค้านรายนี้ยังยืนยันว่า จะเดินหน้ากดดันรัฐบาลให้เปิดเผยแผนเกี่ยวกับชาวมุสลิมอุยกูร์ และไม่ให้มีการส่งตัวกลับจีนเป็นอันขาด เพราะตนเชื่อว่า “หากรัฐบาลไทยส่งตัวคนกลุ่มนี้กลับจีน ก็จะเหมือนกับการส่งพวกเขาไปตาย”

พล.ต.ต.อาชยน ไกรทอง โฆษกสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เปิดเผยว่า รัฐบาลไทยยังไม่มีแผนที่จะส่งตัวชาวอุยกูร์กลุ่มที่ยังอยู่ในไทยไปยังที่ใด และการตัดสินใจในเรื่องนี้เป็นความรับผิดชอบของหน่วยงานอื่น ซึ่งหลัก ๆ ก็คือ สภาความมั่นคงแห่งชาติและกระทรวงการต่างประเทศ

วีโอเอ ได้ติดต่อไปยังสภาความมั่นคงแห่งชาติเพื่อขอความเห็นเกี่ยวกับประเด็นนี้ แต่ไม่ได้รับคำตอบใด ๆ กลับมา

ขณะเดียวกัน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ธานี แสงรัตน์ กล่าวว่า ไทย “จะยังคงดูแลคนเหล่านี้ต่อไป จนกว่าจะมีทางออกที่ใช้งานและปฏิบัติได้จริงสำหรับกลุ่มนี้” แต่ไม่ได้เปิดเผยว่า รัฐบาลได้สรุปแล้วว่า จะไม่มีการบังคับส่งตัวคนกลุ่มนี้ไปจีน หรืออธิบายว่า ทำไมจึงไม่อนุญาตให้คนเหล่านี้เดินทางออกไปยังประเทศอื่นต่อ

ส่วน รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของนายกรัฐมนตรี ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวว่า ในเวลานี้ การตัดสินใจในเรื่องดังกล่าวยังค้างเติ่งอยู่ และบอกกับ วีโอเอ ว่า ชาวอุยกูร์บางรายต้องการไปยังประเทศในยุโรป หรือไปสหรัฐฯ ขณะที่ บางคนต้องการไปตุรกี อินโดนีเซีย หรือประเทศอื่น ๆ แต่จีนต้องการทั้งหมดให้กลับมาหาตน

รศ.ดร.ปณิธาน กล่าวด้วยว่า ทีมงานได้เตรียมข้อเสนอแนะนำเพื่อแก้ปัญหานี้มาเป็นเวลา 2 ปีแล้ว โดยเป็นการปฏิบัติตามหลักสากลของการส่งตัวผู้ที่ผ่านมาไปยังที่ ๆ ปลอดภัย พร้อม ๆ กับพิจารณาประเด็นกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ความมั่นคงของประเทศ และ “กรณีด้านมนุษยชน” ด้วย แต่ไม่เปิดเผยว่า มีความคืบหน้าในการหารือเพียงใดแล้ว

ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของนายกฯ ประยุทธ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า “โดยส่วนตัวแล้ว คิดว่า เราควรยุติประเด็นนี้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง” และว่า “มันไม่ถูกต้องตามหลักมนุษยธรรมที่จะปฏิบัติต่อผู้คนดังเช่นที่เป็นอยู่นี้”

  • ที่มา: วีโอเอ
XS
SM
MD
LG