ลิ้งค์เชื่อมต่อ

กลุ่มนักสิทธิมนุษยชน ชี้ การปราบปรามผู้เห็นต่างข้ามแดนในไทยรุนแรงขึ้น


แฟ้ม - ชาวอุยกูร์อยู่ในห้องกักตัวชาวต่างชาติ ศูนย์กักกันของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ในกรุงเทพฯ เมื่อ 21 ม.ค. 2019 (AP Photo/Sakchai Lalit)
แฟ้ม - ชาวอุยกูร์อยู่ในห้องกักตัวชาวต่างชาติ ศูนย์กักกันของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ในกรุงเทพฯ เมื่อ 21 ม.ค. 2019 (AP Photo/Sakchai Lalit)

กลุ่มนักสิทธิมนุษยชน เผยรายงานฉบับใหม่ที่ชี้ว่า ไทยกลายเป็นประเทศที่อันตรายมากขึ้นสำหรับผู้เห็นต่างทางการเมืองที่เป็นชาวต่างชาติ ซึ่งพยายามลี้ภัยในประเทศไทยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ขณะที่เดินหน้าปราบปรามผู้เห็นต่างของประเทศตนในต่างแดนมากขึ้นด้วย

รายงานฉบับล่าสุด "We Thought We Were Safe: Repression and Forced Return of Refugees in Thailand" ขององค์กร ฮิวแมน ไรท์ส วอทช์ (Human Rights Watch) ย้อนดู 25 คดีที่เกิดขึ้นในยุครัฐประหาร ตั้งแต่การคุกคามทำร้ายร่างกาย ไปจนถึงการลักพาตัว การเนรเทศ และการสังหารผู้เห็นต่างทางการเมืองในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาวและกัมพูชา

เอเลน เพียร์สัน (Elaine Pearson) ผู้อำนวยการองค์กรสิทธิมนุษยชน ฮิวแมน ไรท์ส วอทช์ ประจำเอเชีย กล่าวกับวีโอเอในวันพฤหัสบดีว่า “เป็นเวลายาวนานแล้ว ประเทศไทยเคยเป็นเหมือนแหล่งพักพิงของผู้คนที่พยายามหลบหนีการดำเนินคดีจากประเทศเพื่อนบ้าน .. แต่ตั้งแต่ปี 2014 เป็นต้นมา เราพบว่ามีการทำข้อตกลงกับประเทศต่าง ๆ มากขึ้น และการยกระดับการคุกคาม การสอดส่องตรวจตรา และข่มขู่ผู้ลี้ภัยต่างชาติที่อาศัยในประเทศไทยมากขึ้น และบ่อยครั้งกับผู้ลี้ภัยที่กำลังเดินทางไปยังประเทศที่สาม”

รายงานฉบับนี้ยังพบว่าจุดเริ่มต้นของการปราบปราบผู้เห็นต่างทางการเมืองทั้งไทยและต่างชาติของประเทศไทย เกิดขึ้นหลังการก่อรัฐประหารเมื่อปี 2014 ซึ่งทำให้ประเทศไทยเปลี่ยนระบบจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมาเป็นระบอบเผด็จการ และแม้ว่าพรรครัฐบาลทหารจะพ่ายแพ้การเลือกตั้งเมื่อปีที่แล้ว แต่ยังคงมีบทบาทในเชิงอำนาจกับสมาชิกระดับสูงในคณะรัฐบาลอยู่

ด้านโฆษกรัฐบาลไทย ไม่ได้ตอบกลับการขอความเห็นเมื่อวีโอเอจัดทำรายงานฉบับนี้ ด้านอดีตโฆษกของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา 2 คน ที่ไม่ได้ตอบกลับคำขอความเห็นของวีโอเอเช่นกัน

เพียร์สัน เสริมว่า “ระดับของความเกี่ยวข้องของรัฐแตกต่างกันไป แต่เรากังวลว่าหลายคดีมีความร่วมมือระหว่างทางการไทยและทางการต่างชาติ ในรูปแบบการจับกุมและส่งกลับผู้คนเหล่านี้”

โดยผู้อำนวยการองค์กรสิทธิมนุษยชน ฮิวแมน ไรท์ส วอทช์ ประจำเอเชีย หยิบยกกรณีเมื่อปี 2015 ที่ประเทศไทยส่งตัวชาวมุสลิมอุยกูร์ 109 คนกลับจีน ซึ่งสหรัฐฯ และประเทศอื่น ๆ กล่าวหาว่าจีนฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชนกลุ่มน้อยมุสลิมอุยกูร์ ซึ่งจีนปฏิเสธข้อกล่าวหา และการจับกุมชาวอุยกูร์ในปี 2014 ฐานเดินทางเข้าประเทศไทยอย่างผิดกฎหมาย ทั้งที่พวกเขามีแผนจะลี้ภัยไปยังประเทศที่ 3 อย่างตุรกี โดยทางการไทยในตอนนั้นระบุเพียงว่าเป็นมาตรการทั่วไป

ในปี 2023 เดิง วัง ไท (Duong Van Thai) นักเคลื่อนไหวและผู้สื่อข่าวชาวเวียดนามผู้เห็นต่างและเฝ้าเปิดโปงรัฐบาลกรุงฮานอย ซึ่งลี้ภัยมาอยู่ที่ประเทศไทย ถูกลักพาตัวโดยกลุ่มชายปริศนาด้านหน้าบ้านเช่าของเขาในกรุงเทพฯ ทางฮิวแมน ไรท์ส วอทช์ กล่าวว่าการลักพาตัวเดิงถูกบันทึกไว้ในคลิปวิดีโอ และไม่กี่วันหลังจากนั้น ทางการเวียดนามกล่าวว่า เดิงถูกจับกุมเพราะเข้าเวียดนามอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นสิ่งที่เพื่อนฝูงของเขาไม่เชื่ออย่างยิ่ง และเดิงต้องขึ้นศาลฐาน “ผลิตโฆษณาชวนเชื่อต่อต้านรัฐบาล”

ส่วนคดีอื่น ๆ ยังคงเป็นปริศนา แต่นักเคลื่อนไหวเชื่อว่ามีรัฐบาลต่างชาติเกี่ยวข้อง โดยเป็นส่วนหนึ่งของ swap mart หรือข้อตกลงแลกเปลี่ยนผู้เห็นต่างทางการเมืองในประเทศลุ่มน้ำโขง ซึ่งไม่ได้รับการพูดถึงมากนัก จนกระทั่งเมื่อปี 2018 ที่ไทยและกัมพูชาประกาศความร่วมมือทวิภาคีในการตรวจตราและช่วยส่งตัว “ผู้ต้องหา” ของแต่ละประเทศ ซึ่งเพียร์สัน บอกว่า “ความจริงคือการให้ไฟเขียวในการตามล่าผู้เห็นต่างนั่นเอง”

ฮิวแมน ไรท์ส วอทช์ พบว่ามีผู้เห็นต่างทางการเมืองชาวต่างชาติอย่างน้อย 12 คนลี้ภัยอยู่ในประเทศไทย และพวกเขารายงานว่าถูกสอดส่องโดยกลุ่มชายไม่ระบุสังกัดตั้งแต่ปี 2014 และรายงานการถูกทำร้ายร่างกายจากคนกลุ่มนี้อย่างน้อย 4 ครั้ง

ไม่เพียงแค่นั้น ผู้เห็นต่างทางการเมืองของไทยในต่างแดนก็ไม่ปลอดภัยจากรัฐบาลของตนเช่นกัน โดยมีผู้เห็นต่างการเมืองชาวไทย 9 คนสูญหายหรือเสียชีวิตอย่างน่าสงสัยเฉพาะในประเทศลาว รวมทั้งนักเคลื่อนไหวชาวไทย 2 คน ที่พบศพในสภาพถูกมัดมือไพล่หลัง ถูกผ่าท้องยัดคอนกรีตถ่วงน้ำ เมื่อเดือนมกราคมปี 2019 ที่แม่น้ำโขง

เพียร์สัน มองว่ายังเร็วเกินไปที่จะบอกว่าประเทศไทยจะมีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้ แต่ก็มีปัจจัยที่ส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ เช่น การพึ่งพาการลงทุนจากชาติตะวันตก และความพยายามของไทยในการมีบทบาทในสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ซึ่งไทยจำเป็นต้องมีการจัดการเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศเสียก่อน

  • ที่มา: วีโอเอ

กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG