ลิ้งค์เชื่อมต่อ

กลุ่มเยาวชนอเมริกันเชื้อสายอินเดียนแดงในเมือง Portland ใช้เสียงเพลงช่วยลดอัตราการฆ่าตัวตาย


กลุ่มเยาวชนอเมริกันเชื้อสายอินเดียนแดงในเมือง Portland ใช้เสียงเพลงช่วยลดอัตราการฆ่าตัวตาย
กลุ่มเยาวชนอเมริกันเชื้อสายอินเดียนแดงในเมือง Portland ใช้เสียงเพลงช่วยลดอัตราการฆ่าตัวตาย

ตามสถิติของรัฐบาลสหรัฐระบุไว้ว่าคนอเมริกันเชื้อสายอินเดียนมีอัตราการฆ่าตัวตายมากกว่าประชากรอเมริกันทั่วไปราว 70% ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตที่เรียกกันว่า “มหันตภัยเงียบ” แต่ขณะนี้บรรดาคนอเมริกันเชื้อสายอินเดียนรุ่นใหม่ในเมือง Portland รัฐ Oregon พยายามลดอัตราการฆ่าตัวตายดังกล่าวด้วยเสียงเพลง

รายงานของกระทรวงสุขภาพและบริการประชาชนของสหรัฐประเมินว่า วัยรุ่นเชื้อสายชนพื้นเมืองอเมริกันมีอัตราการฆ่าตัวตายเกือบ 1 ใน 4 หรือราว 25%

Sarah Hull สมาชิกเผ่าอเมริกันอินเดียนในรัฐโอเรกอนวัย 16 ปี คือผู้หนึ่งที่ใช้เสียงเพลงเข้าช่วยแก้ไขปัญหาการฆ่าตัวตายซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของคนอเมริกันเชื้อสายอินเดียน Sarah เล่าประสบการณ์ของเธอให้ฟังว่าเมื่อครั้งเธออาศัยอยู่ในชุมชนคนอเมริกันพื้นเมือง คนรอบตัวจำนวนมากเป็นโรคซึมเศร้าซึ่งเกิดจากความสับสนทางวัฒนธรรม ไม่รู่ว่าตัวเองเป็นใครและขาดแรงจูงใจในการดำเนินชีวิต แต่สำหรับตัวเธอนั้น แรงจูงใจของเธอคือเสียงเพลง

Sarah เข้าร่วมในการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อสุขภาพแห่งหนึ่งในเมือง Portland ที่ซึ่งเธอได้ร่วมร้องเพลงและอัดเสียง โดยเสียงเพลงของ Sarah คือส่วนหนึ่งของโครงการป้องกันการฆ่าตัวตายซึ่งจัดทำโดยคณะกรรมการด้านสุขภาพชาวอินเดียนแดงในเขตตะวันตกเฉียงเหนือของรัฐโอเรกอน

คุณ Colbie Caughlan ผู้ประสานงานของโครงการนี้ระบุว่า เป้าหมายของโครงการคือการนำคนอเมริกันเชื้อสายอินเดียนรุ่นใหม่จากเผ่าต่างๆ มาร่วมทำกิจกรรมเพื่อสื่อสารข้อความไปยังเยาวชนเชื้อสายอินเดียนทั่วประเทศให้ตระหนักถึงอันตรายจากการใช้ยาเสพติดและการฆ่าตัวตาย โดยใช้การเผยแพร่ข้อความผ่านเทคโนโลยีสื่อสารใหม่ๆ ได้แก่คอมพิวเตอร์ กล้องวีดีโอ อินเทอร์เนตและเว็บไซต์เครือข่ายสังคมออนไลน์ คุณ Caughlan บอกว่าเป้าหมายของโครงการคือพยายามให้เด็กที่ผ่านหลักสูตรป้องกันการฆ่าตัวตาย กลับไปบอกกับเพื่อนๆและขยายวงออกไปเรื่อยๆ

Todd Denny หนึ่งในผู้ให้คำปรึกษาด้านดนตรีของโครงการสื่อออนไลน์เพื่อสุขภาพ ในเมือง Portland เล่าว่าเขาริเริ่มโครงการนำเสียงเพลงต่อต้านการฆ่าตัวตายมาได้ราว 10 ปีแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคอินเทอร์เนตเช่นนี้ เทคโนโลยียิ่งช่วยให้การกระจายข้อความและเสียงเพลงสู่คนอเมริกันเชื้อสายอินเดียนกลุ่มต่างๆ ทำได้ง่ายขึ้น

คุณ Denny บอกว่าโครงการเสียงดนตรีผ่านโลกดิจิตัลนี้ช่วยให้เยาวชนสามารถเอาชนะมหันตภัยเงียบและความลึกลับสับสนได้ ทำให้กล้าแสดงออกบอกเล่าเรื่องราวของพวกเขามากขึ้น ไม่ว่าจะเล่าผ่านเสียงดนตรีพื้นเมืองของชาวอินเดียนแดงหรือจะเพลงสมัยใหม่อย่างเพลงแร็พหรือ Hip-Hop ก็ตาม

XS
SM
MD
LG