ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ควีนเอลิซาเบธที่ 2 สวรรคตด้วยพระชนมายุ 96 พรรษา


FILE PHOTO: Britain's Queen Elizabeth
FILE PHOTO: Britain's Queen Elizabeth

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งราชวงศ์อังกฤษ สวรรคตในวันพฤหัสบดี ด้วยพระชนมายุ 96 พรรษา ที่ตำหนักพระราชวังบัลมอรัล สกอตแลนด์

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธทรงเป็นกษัตริยาที่ทรงครองราชย์นานที่สุดของอังกฤษ โดยเพิ่งทรงเฉลิมฉลองครบรอบ 70 ปี ในพระราชบัลลังก์ไปเมื่อต้นปีนี้

นับตั้งแต่ขึ้นครองราชย์เมื่อปี ค.ศ. 1952 ภายหลังการเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 ผู้ทรงเป็นพระราชบิดา สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธทรงดำรงตำแหน่งประมุขของประเทศ พร้อมทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจร่วมกับนายกรัฐมนตรีทั้งหมด 15 คน รวมทั้ง ทรงช่วยนำพาประเทศผ่านร้อนผ่านหนาวมาหลายช่วง ตั้งแต่พิษของสงครามโลกครั้งที่ 2 สงครามเย็น ภาวะฟองสบู่แตกหลังช่วงเวลารุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ ไปจนถึง ความขัดแย้งในไอร์แลนด์เหนือ และการก่อกำเนิดของสหภาพยุโรป รวมทั้งการที่อังกฤษขอถอนตัวออกมา หรือ เบร็กซิต

ประชาชนจำนวนมากของอังกฤษชื่นชมควีนเอลิซาเบธและการที่พระองค์ทรงทุ่มเทต่อพระราชกรณียกิจทั้งหลายเสมอมา รวมทั้ง การที่ทรงเป็นเสมือนเสาหลักของประเทศในช่วงที่อังกฤษค่อย ๆ ลดบทบาทในฐานะประเทศมหาอำนาจลง

และแม้พระองค์จะได้รับการกล่าวขานว่าเป็น กษัตริยาที่ทรงครองราชย์ยาวนานที่สุดของอังกฤษมาตั้งแต่เมื่อปี ค.ศ. 2015 สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธ​ยังคงทรงงานทุกวันมาตลอด โดยเคยตรัสไว้ว่า “เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อชีวิต ๆ หนึ่งจะผ่านพ้นช่วงเวลาสำคัญ ๆ ได้มากมาย ไม่เว้นแม้แต่ของข้าพเจ้าเอง”

การก้าวขึ้นครองราชย์

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธ​ที่ 2 เมื่อครั้งทรงดำรงพระยศเป็นเจ้าหญิงเอลิซาเบธ ทรงถูกวางพระองค์ว่ามีสิทธิ์ขึ้นครองราชย์ในอนาคต หลังสมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8 ซึ่งทรงเป็นพระปิตุลา สละราชสมบัติในปี ค.ศ. 1936 เพื่ออภิเสกสมรสกับสตรีหม้ายชาวอเมริกัน โดยสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 ผู้ทรงเป็นพระราชบิดา ขึ้นครองราชย์ในฐานะประมุขของอังกฤษต่อตั้งแต่ปี ค.ศ. 1936 จนถึงปี ค.ศ. 1952 เมื่อพระองค์สวรรคตลง

ณ เวลานั้น เจ้าหญิงเอลิซาเบธซึ่งทรงมีพระชันษาเพียง 25 ปี กำลังทรงท่องเที่ยวอยู่ที่ประเทศเคนยา และเพิ่งฉลองพิธีเสกสมรสกับร้อยโทฟิลิป เมาท์แบทเทน เจ้าชายเชื้อสายกรีก ไปได้เพียง 4 ปี

หลังจากการสวรรคตของสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 ผ่านพ้นไป 1 ปี เจ้าหญิงเอลิซาเบธทรงเข้าร่วมพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในปี ค.ศ. 1953 ที่มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ ซึ่งมีการถ่ายทอดสดไปทั่วโลกเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ โดยมีการประเมินว่า มีชาวอังกฤษราว 20 ล้านคนนั่งชมผ่านโทรทัศน์พร้อม ๆ กับคนอีกหลายล้านทั่วโลก ตามข้อมูลของ บีบีซี

South African President Nelson Mandela is accompanied by Britain's Queen Elizabeth II in a carriage ride to a Buckingham Palace lunch on the first day of his state visit to Britain July 9, 1996.
South African President Nelson Mandela is accompanied by Britain's Queen Elizabeth II in a carriage ride to a Buckingham Palace lunch on the first day of his state visit to Britain July 9, 1996.

ความสำเร็จในฐานะองค์พระประมุข

ผู้ที่สนับสนุนสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธ​ที่ 2 กล่าวว่า พระองค์ทรงมีบทบาทสำคัญในการช่วยประคับประคองสถาบันกษัตริย์ให้อยู่รอดได้ในอังกฤษ ในเวลาที่ สถาบันเบื้องสูงในหลาย ๆ ประเทศค่อย ๆ หมดความสำคัญลง

การที่ทรงเน้นเรื่องของ ‘ปฏิบัตินิยม’ และมุ่งปฏิบัติพระราชกรณียกิจโดยไม่สนใจการโอ้อวดใด ๆ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธ​ทรงได้รับความเคารพรักจากคนส่วนใหญ่ในอังกฤษรวมทั้งในต่างประเทศด้วย จนกลายมาเป็นหนึ่งในผู้ที่มีชื่อเสียงและผู้คนจดจำได้มากที่สุดของโลก

หนังสือพิมพ์ Express ของอังกฤษรายงานในปี ค.ศ. 2020 ว่า สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธ​ทรงเดินทางเป็นระยะทางทั้งหมดกว่า 1 ล้านไมล์ และทรงเยือนทั้งหมด 110 ประเทศ ทั้งยังเรียกพระองค์ว่าเป็น “ประมุขของรัฐที่เดินทางมากที่สุดตลอดกาล” ด้วย

ตลอดช่วงรัชสมัยของพระองค์ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธ​ที่ 2 ได้รับการจารึกว่าเป็นกษัตริย์พระองค์แรกของอังกฤษที่เสด็จเยือนจีนแผ่นดินใหญ่ในปี ค.ศ. 1986 และเป็นกษัตริย์พระองค์แรกในรอบ 100 ปีที่เสด็จเยือนสาธารณรัฐไอร์แลนด์ ในปี ค.ศ. 2011

ช่วงเวลาแห่งความยากลำบาก

แม้ว่าจะมีหนังสือ ภาพยนตร์ และรายการโทรทัศน์ ที่นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับพระองค์ออกมามากมาย แต่สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 ไม่ทรงให้ความเห็นใด ๆ เกี่ยวกับเรื่องส่วนพระองค์เลย โดยภาพที่คนทั่วไปจดใจได้มักจะเป็นเรื่องที่ทรงชื่นชอบการแข่งม้า ฉลองพระองค์สีสันสดใส และสุนัขทรงเลี้ยงสายพันธุ์เวลช์คอร์กี้ เท่านั้น โดยไม่มีใครเคยได้ยินความเห็นของพระองค์เกี่ยวกับเรื่องอื่นใดเลย

ถึงกระนั้น สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธ​น่าจะเป็นผู้ที่ถูกสาธารณะจับตาตรวจสอบดูมากที่สุดคนหนึ่งตลอดช่วงระยะเวลาการครองราชย์

เมื่อปี ค.ศ. 1992 พระองค์ทรงระบุในพระราชดำรัสเนื่องในพระราชวโรกาสเฉลิมฉลองการครองราชย์ครบ 40 ปี ว่า ปีนั้น “กลับกลายมาเป็น ‘ปีอันแสนโหดร้าย’” หลังพระราชโอรสและพระราชธิดา 3 พระองค์ อันได้แก่ เจ้าฟ้าชายชาลส์ เจ้าชายแอนดรูว์ และเจ้าหญิงแอนน์ ต่างประกาศแยกทางหรือหย่าร้าง

ทั้งนี้ ชีวิตสมรสของเจ้าฟ้าชายชาลส์กับเจ้าหญิงไดอานาที่เต็มด้วยปัญหามากมาย คือ หนึ่งในสาเหตุของภาวะตึงเครียดภายในพระราชวงศ์ เมื่อผู้คนจำนวนมากต่างแสดงความเห็นใจและเข้าข้างเจ้าหญิงไดอานามากกว่า

หลังการเสียชีวิตของเจ้าหญิงไดอานาในอุบัติเหตุทางรถยนต์ในปี ค.ศ. 1997 สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธ​ ทรงตกเป็นเป้าโจมตีและวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก เพราะพระองค์ไม่ทรงออกมาให้ความเห็นเกี่ยวกับเหตุการณ์นั้น และไม่เสด็จกลับพระราชวังบักกิงแฮม จากพระตำหนักฤดูร้อนบัลมอรัล ทันทีที่ทรงทราบข่าว

และ 5 วันหลังจากการเสียชีวิตของเจ้าหญิงไดอานา สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธ​ทรงออกแถลงการณ์สดเพื่อไว้อาลัยต่อเหตุการณ์ครั้งนั้น ซึ่งหลายฝ่ายมองว่า เป็นเพราะแรงกดดันจากประชาชน

ในปี ค.ศ. 2019 เจ้าชายแอนดรูว์ พระโอรสองค์ที่ 2 ทรงประกาศถอนตัวจากการทำหน้าที่สมาชิกพระราชวงศ์ เนื่องจากกรณีข่าวฉาวว่าพระองค์ทรงพัวพันกับอภิมหาเศรษฐีชาวอเมริกัน เจฟฟรีย์ เอ็พสตีน ที่ถูกตัดสินว่า มีความผิดในคดีล่วงละเมิดทางเพศและฆ่าตัวตายระหว่างถูกจำขังในเรือนจำนครนิวยอร์ก

เจ้าชายแอนดรูว์ทรงถูกกล่าวหาโดยสตรีชาวอเมริกันรายหนึ่งว่า ทำการล่วงละเมิดทางเพศที่บ้านของเอ็พสตีน ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่เจ้าชายแอนดรูว์ทรงปฏิเสธโดยสิ้นเชิง

นอกจากนั้น ยังมีกรณีของเจ้าชายแฮร์รี พระราชนัดดา และ เมแกน ดัชเชสแห่งซัสเซกส์ ที่ประกาศยุติบทบาทสมาชิกพระราชวงศ์ เนื่องจากปัญหาความตึงเครียดเกี่ยวกับการปฏิบัติกรณียกิจของราชวงศ์ ก่อนที่ทั้งคู่จะย้ายมาอาศัยอยู่ที่สหรัฐฯ และให้สัมภาษณ์ในปี ค.ศ. 2021 ที่มีเนื้อความกล่าวหามีการเหยียดเชื้อชาติต่อเมแกน โดยสมาชิกราชวงศ์ที่ไม่มีการระบุนาม แต่ยืนยันว่า ไม่ใช่สมเด็จพระราชินี

ภายหลังจากมีการเผยแพร่บทสัมภาษณ์นี้ออกมา สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธ​ทรงออกแถลงการณ์ที่ระบุว่า “มีการตรวจสอบ (ข้อกล่าวหาดังกล่าว) อย่างจริงจังแล้ว และจะมีการพูดคุยในเรื่องนี้เป็นการภายในพระราชวงศ์ด้วย”

Queen Elizabeth II with Prince Philip arrive by horse drawn carriage in the parade ring on the third day, traditionally known as Ladies Day, of the Royal Ascot horse race meeting at Ascot, England, June 16, 2011.
Queen Elizabeth II with Prince Philip arrive by horse drawn carriage in the parade ring on the third day, traditionally known as Ladies Day, of the Royal Ascot horse race meeting at Ascot, England, June 16, 2011.

เมื่อปี ค.ศ. 2021 กำลังใจมากมายยังหลั่งไหลไปยังสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธ​ที่ 2 หลังการสิ้นพระชนม์ของเจ้าชายฟิลิปในเดือนเมษายน หรือก่อนที่พระองค์จะฉลองครบรอบพระชนมายุ 100 พรรษาไม่กี่สัปดาห์

ตลอดช่วงระยะเวลาที่ทั้งสองพระองค์ทรงอยู่ร่วมกันเป็นเวลา 73 ปี เจ้าชายฟิลิปทรงยืนอยู่ข้างพระวรกายสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธตลอดเวลา

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงกล่าวสรรเสริญพระราชสวามีภายหลังการสิ้นพระชนม์ว่า ทรงเป็น “แรงกำลังและที่พักพิง” ของพระองค์ตลอดช่วงเวลาที่ทรงอยู่ด้วยกันและการครองราชย์ของพระองค์ด้วย

  • ที่มา: วีโอเอ
XS
SM
MD
LG