ลิ้งค์เชื่อมต่อ

เครื่องถ่ายภาพไฮ-เทคและการทดสอบความทรงจำอาจช่วยให้พยากรณ์ได้ ว่าใครจะเป็นโรคอัลไซม์เมอร์


Alzheimer's patient and caregiver.
Alzheimer's patient and caregiver.

คณะนักวิจัยทดลองใช้เครื่อง Positron Emission Tomography ตรวจสอบได้ว่าใครบ้างที่อาจจะเป็นโรคอัลไซม์เมอร์

บรรดาผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ความสามารถที่จะพยากรณ์ได้ตั้งแต่เนิ่นๆและถูกต้องว่าใครจะเป็นโรคอัลไซม์เมอร์ ซึ่งอาจก้าวหน้าไปโดยใช้เวลานานหลายสิบปีนั้นเป็นปัญหาหนักหนายิ่งปัญหาหนึ่งของแขนงการวิจัยเกี่ยวกับโรคอัลไซม์เมอร์ ตามปกติ โรคนี้มักจะเกิดในหมู่ผู้สูงอายุโดยมีอาการหลงๆลืมๆอย่างอ่อนๆ อันเป็นอาการที่อาจเป็นส่วนหนึ่งของการชราภาพตามปกติก็ได้

แต่คณะนักวิจัยที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตเบิร์กลี่ย์ ใช้เครื่องมือถ่ายภาพ Positron Emission Tomography ที่เรียกกันย่อๆว่า PET และการทดสอบความจำแบบธรรมดาสามัญ และพบว่าอาสาสมัครที่เข้าร่วมในการวิจัยที่ผ่านการทดสอบแล้วว่ามีความทรงจำไม่ค่อยดีและภาพที่ได้จากเครื่อง PET แสดงว่าการกระตุ้นที่สมองบางส่วนอาจทำให้มีโอกาสจะเป็นโรคอัลไซม์เมอร์ได้มากกว่าเดิมสิบสองเท่า

ดร.ซูซัน แลนเดาและคณะทำการศึกษาวิจัยในหมู่ผู้ที่ต้องสงสัยว่าจะเป็นโรคอัลไซม์เมอร์จำนวน 85 คน ปรากฎว่า 28 คนในจำนวนนั้นเป็นโรคอัลไซม์เมอร์ในเวลาต่อมา

โรคอัลไซม์เมอร์นี้ยังไม่มีทางรักษาให้หายได้ และยาที่มีอยู่บำบัดรักษาอาการของโรคนี้ได้เป็นบางส่วนเท่านั้น อย่างเช่นอาการหลงๆลืมๆ

นักวิจัยและแพทย์บางส่วนรู้สึกวิตกกังวลว่ายาเหล่านั้นอาจนำมาใช้กับคนที่หลงๆลืมๆแต่ไม่ได้เป็นโรคอัลไซม์เมอร์ ดังนั้น ศาสตราจารย์ทางเวชศาสตร์ รังสีวิทยา จิตเวชศาสตร์และประสาทวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตซานฟรานซิสโก ไมเคิล วายเนอร์ ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์การถ่ายภาพเกี่ยวกับโรคที่ทำให้ประสาทเสื่อมของกระทรวงกิจการทหารผ่านศึกอเมริกันด้วย กล่าวว่า ทำการวินิจฉัยโรคนั้นได้ดียิ่งโดยใช้เทคโนโลยีอย่างเช่นเครื่อง PET และช่วยให้มั่นใจได้ว่าเราจะใช้ยาได้อย่างถูกต้อง

นักวิชาการผู้นี้กล่าวว่า “ข้อได้เปรียบในระยะยาวก็คือว่า เมื่อถึงช่วงๆหนึ่ง เราจะมียาหรือวิธีบำบัดรักษาซึ่งจะช่วยชะลอความคืบหน้าของโรคอัลไซม์เมอร์ หรือป้องกันอาการของโรคอัลไซม์เมอร์ได้เสียด้วยซ้ำไป และเมื่อถึงเวลานั้น การมีวิธีวินิจฉัยโรคได้แต่เนิ่นๆจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก“

มีผู้ตำหนิว่าการใช้เทคโนโลยีไฮ-เทคในการถ่ายภาพเพื่อช่วยวินิจฉัยเกี่ยวโรคอัลไซม์เมอร์แบบนั้นเสียค่าใช้จ่ายสูงและไม่เหมาะที่จะนำมาใช้เป็นมาตรฐานสำหรับการบริบาลคนส่วนใหญ่ที่ต้องสงสัยว่าจะเป็นโรคอัลไซม์เมอร์

แต่ศาสตราจารย์ ไมเคิล วายเนอร์ ไม่เห็นด้วยกับเรื่องนั้นโดยกล่าวว่าเครื่อง PET นั้นมีอยู่ทั่วไปอยู่แล้ว และใช้สำหรับโรคมะเร็ง ดังนั้นการใช้เครื่องมือดังกล่าวจึงเป็นการใช้เครื่องมือที่มีอยู่แล้วมาช่วยในการวินิจฉัยโรคอัลไซม์เมอร์แค่นั้นเอง

บทความที่ระบุรายละเอียดเกี่ยวกับการใช้เครื่อง Positron Emission Tomography และการทดสอบความทรงจำในการวินิจฉัยโรคอัลไซม์เมอร์แต่เนิ่นๆนี้ลงพิมพ์อยู่ในวารสาร “Neurology” ฉบับล่าสุด

XS
SM
MD
LG