ลิ้งค์เชื่อมต่อ

หมีขั้วโลกในกรีนแลนด์พอมีโอกาสรอดจากภาวะโลกร้อน


Polar Bears
Polar Bears

ในขณะที่หมีขั้วโลกต้องต่อสู้เพื่อเอาชีวิตรอดเนื่องจากน้ำแข็งในทะเลอาร์กติกกำลังละลายหายไป แต่ฝูงหมีกรีนแลนด์กลุ่มใหม่ดูเหมือนจะพบบริเวณที่เป็นน้ำแข็งซึ่งอาจจะช่วยให้พวกมันพอจะรอดชีวิตได้แล้ว

แต่ถึงกระนั้นสถานการณ์โดยรวมของหมีขั้วโลกที่ใกล้สูญพันธุ์ก็ยังคงเป็นเรื่องที่ร้ายแรงอยู่ โดยนักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า สัตว์เหล่านี้ยังคงอยู่ในอันตรายจากการล้มหายตายจากเนื่องจากผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอยู่ดี

คณะนักวิทยาศาสตร์ได้ศึกษากลุ่มหมีขั้วโลก 200-300 ตัวที่อยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของกรีนแลนด์เมื่อไม่นานมานี้ และหมีเหล่านี้มีความแตกต่างจากหมีสายพันธุ์อื่น ๆ ทางพันธุกรรมและถูกแยกออกจากหมีขั้วโลกอื่นๆ เนื่องจากเงื่อนไขทางสภาพภูมิศาสตร์

สิ่งที่ฟังดูไม่ธรรมดานักเกี่ยวกับหมีขั้วโลกกลุ่มนี้ในกรีนแลนด์ ก็คือ การที่พวกมันสามารถมีชีวิตอยู่รอดได้ แม้ว่าจะมีน้ำแข็งลอยในทะเลมากพอที่จะล่าแมวน้ำอยู่เพียงปีละ 100 วันเท่านั้น ขณะที่ ในส่วนอื่นๆ นั้น หมีขั้วโลกต้องการน้ำแข็งทะเลอย่างน้อย 180 วัน ซึ่งตามปกติปริมาณน้ำแข็งควรจะมากกว่านั้นเพื่อให้พวกมันสามารถล่าเหยื่อได้ เมื่อไม่มีน้ำแข็งในทะเล หมีก็มักจะไม่ได้กินอาหารเป็นเวลาหลายเดือน

ทั้งนี้ น้ำแข็งทะเลก็คือ น้ำทะเลที่แข็งตัว และในสภาพที่มีปริมาณน้ำแข็งที่จำกัด หมีขั้วโลกที่อยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของกรีนแลนด์จะใช้มวลน้ำแข็งน้ำจืด ที่รู้จักกันในชื่อ ภูเขาน้ำแข็ง ซึ่งนักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า ภูเขาน้ำแข็งที่ก่อตัวขึ้นจากแผ่นน้ำแข็งกรีนแลนด์ที่หดตัวนั้น คือ พื้นที่ล่าสัตว์ของหมีขั้วโลกเหล่านี้

อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ไม่แน่ใจว่า ฝูงหมีนี้จะมีชีวิตรอดได้หรือไม่ เพราะพวกมันมีขนาดเล็กกว่าพันธุ์อื่น ๆ และมีลูกน้อยกว่าประชากรหมีขั้วโลกกลุ่มอื่น ๆ ด้วย

คริสติน ไลเดอร์ (Kristin Laidre) หัวหน้าทีมผู้จัดทำรายงานการศึกษาถูกตีพิมพ์อยู่ในวารสาร Science และทำการติดตามและทดสอบหมีขาวทั้งหมดโดยใช้เฮลิคอปเตอร์เป็นเวลานานกว่า 9 ปี กล่าวว่า หมีขั้วโลกเหล่านี้ได้ทำการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่ดูเหมือนกับสภาพแวดล้อมในอนาคตแล้ว

ไลเดอร์ ระบุว่า ขณะที่ กรีนแลนด์นั้นมีความพิเศษ เพราะไม่มีธารน้ำแข็งเหมือนในแถบอาร์กติกที่ช่วยหมีขั้วโลกในแถบนั้นให้มีชีวิตรอด แต่หมีที่กรีนแลนด์ก็ยังมีชีวิตอยู่มาได้

ขณะเดียวกัน นักวิทยาศาสตร์ยังคงประเมินว่า ประชากรหมีขั้วโลกในแถมอาร์กติกจะยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง

Greenland Arctic Council
Greenland Arctic Council

และแม้นักวิทยาศาสตร์เชื่อมานานแล้วว่า ประชากรหมีขั้วโลกที่อยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะกรีนแลนด์ซึ่งไม่มีเมืองใด ๆ อยู่เลยนั้น เป็นส่วนหนึ่งของประชากรหมีในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของกรีนแลนด์ ไลเดอร์ ยืนยันว่า นั่นเป็นความเชื่อที่ไม่ถูกต้อง และหมีสองกลุ่มนี้ไม่ได้เป็นพวกเดียวกัน เนื่องจากลมและสภาวะอื่น ๆ ในแถบภาคเหนือทำให้ไม่มีความเป็นไปได้เลยที่หมีจะเดินทางจากใต้ขึ้นเหนือได้

การศึกษายังพบด้วยว่า ในขณะที่หมีส่วนใหญ่เดินทาง 40 กิโลเมตรโดยใช้เวลาสี่วัน หมีกรีนแลนด์ตะวันออกเฉียงใต้สามารถเดินทางได้เพียง 10 กิโลเมตรในระยะเวลาเท่ากัน เนื่องจากพวกมันใช้เวลาอยู่ในพื้นที่เดิม ๆ เป็นเวลานานหลาย ๆ ปีและไม่ค่อยเคลื่อนย้ายไปที่ใด

เบธ ชาพิโร (Beth Shapiro) ผู้ร่วมเขียนการศึกษานี้กล่าวเสริมว่า การทดสอบทางพันธุกรรมได้แสดงให้เห็นว่า หมีกรีนแลนด์ตะวันออกเฉียงใต้มีความแตกต่างจากประชากรหมีขั้วโลกกลุ่มอื่น ๆ ด้วย

โดยทั่วไป หมีกรีนแลนด์ตะวันออกเฉียงใต้จะตัวเล็กกว่าหมีอาร์กติกกลุ่มอื่น ๆ โดยตัวเมียจะมีน้ำหนักประมาณ 185 กิโลกรัม แต่หมีที่อยู่ในส่วนอื่น ๆ ของทวีปอาร์กติกในอเมริกาเหนือจะมีน้ำหนักประมาณ 199 ถึง 255 กิโลกรัม นอกจากนี้ พวกมันมักจะออกลูกน้อยกว่า ซึ่งอาจเป็นเพราะพวกมันมักจะอยู่อย่างโดดเดี่ยวและไม่มีโอกาสแพร่พันธุ์มากนัก

ชาพิโรกล่าวเสริมว่า หมีกรีนแลนด์ไม่ได้แพร่พันธุ์มากเท่ากับหมีกลุ่มอื่น ๆ และยังไม่แข็งแรงเท่ากับหมีกลุ่มอื่นที่อาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์ดีกว่า

ชาพิโร สรุปความว่า หมีกรีนแลนด์นั้น ใช้ชีวิตอยู่ในที่ ๆ เธอเรียกว่าเป็น ‘โอเอซิส’ ซึ่งก็คือ พื้นที่ที่ปลอดภัยแต่รอบล้อมไปด้วยปัจจัยที่ไม่น่าพิสมัย ที่ทำให้หมีเหล่านั้นอาศัยอยู่ได้ แม้ว่าจะไม่ได้ดีพร้อมสมบูรณ์ แต่ก็ดีพอจะให้อยู่กันไปได้นั่นเอง

  • ที่มา: เอพี
XS
SM
MD
LG