ลิ้งค์เชื่อมต่อ

"ขยะพลาสติก" ปริมาณมหาศาลในมหาสมุทร ส่งผลกระทบต่อชีวิตสัตว์น้ำและมนุษย์


please wait

No media source currently available

0:00 0:03:35 0:00

ผลการวิจัยในปีที่แล้ว ระบุว่าพลาสติกในทุกรูปแบบ ถูกทิ้งลงมหาสมุทรเป็นจำนวนระหว่าง 4.8 ถึง 12.7 ล้านตันในแต่ละปี เปรียบเทียบได้กับเรือบรรทุกเครื่องบินขนาดใหญ่ที่สุดในโลก 48 ลำ แต่ละลำมีน้ำหนักราวๆ หนึ่งแสนตัน

พลาสติกที่ล่องลอยในมหาสมุทรไปรวมตัวกันในบริเวณที่มีน้ำทะเลหมุนวนเข้าสู่ศูนย์กลางเป็นวงกลม และสำนักงานมหาสมุทรและบรรยากาศโลกแห่งชาติ หรือ NOAA ของสหรัฐ บอกว่า เป็นไปได้ที่เราจะแล่นเรือผ่านบริเวณขยะพลาสติกในทะเล และจะเห็นขยะที่ว่านี้เล็กน้อย หรืออาจจะไม่เห็นเลยก็ได้ เพราะเป็นเศษเล็กเศษน้อยเป็นส่วนใหญ่

ส่วนที่ยังคงรูปเป็นถุงพลาสติก มีไม่น้อยที่กลายเป็นอาหารของเต่าทะเล เพราะเต่าเข้าใจว่าเป็นแมงกะพรุน อาหารโปรดชนิดหนึ่ง ซึ่งถุงพลาสติกที่ถูกกินเข้าไป มักจะติดค้างอยู่ในระบบย่อยอาหารของเต่าทะเล และฆ่าเต่าได้ในที่สุด

แต่ปัญหาที่ใหญ่กว่านั้นคือพลาสติกไม่เน่าเปื่อยสลายตัว และถ้าทิ้งลงกองขยะที่มีการฝังกลบ การเน่าเปื่อยจะไม่เกิดขึ้นเลย

แม้ในที่สุด พลาสติกจะแยกตัวเปื่อยลง โดยส่วนใหญ่จะเหลือขนาดไม่ถึง 5 มิลลิเมตร แต่ NOAA กล่าวว่า นั่นยิ่งสร้างปัญหาให้กับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

NOAA แยกผลกระทบของพลาสติกไว้สองประเภท คือ โดยตรงและโดยอ้อม

กลุ่มพิทักษ์สิ่งแวดล้อมเสนอแนะว่า สัตว์น้ำในทะเลตายปีละประมาณหนึ่งแสนตัว เพราะตัวไปพันเข้ากับพลาสติก หรืออย่างในกรณีของนกในทะเลที่อดตายปีละราวๆ หนึ่งล้านตัว เพราะกินเศษพลาสติกเข้าไป ซึ่งค้างอยู่ในกระเพาะ เพราะไม่ย่อย ปัญหาจากพลาสติกแบบนี้ NOAA เรียกว่า ผลกระทบโดยตรง

สำหรับผลกระทบโดยอ้อม เกิดจากสารเคมีที่ใช้ผลิตพลาสติก ซึ่ง NOAA กำลังวิจัยเรื่องนี้อยู่

Emily Tonge เจ้าหน้าที่ของ NOAA บอกกับ VOA ว่า ขณะที่พลาสติกเสื่อมลง จะดูดซับสารเคมีที่เป็นมลพิษ อย่างเช่น PCB (polychlorinated biphenyls) ในระดับที่สูงกว่าระดับในน้ำทะเลระหว่าง 100,000 ถึง 1,000,000 เท่าตัว แม้ว่าสารเคมีชนิดนี้จะถูกห้ามใช้มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1971 แล้ว แต่ยังลอยอยู่เป็นจำนวนมหาศาลในทะเล

ผลงานวิจัยในช่วงสองสามปีมานี้ ชี้แนะว่า สารพิษนี้เกาะติดอยู่ในตัวปลาที่กินเศษพลาสติกเข้าไป และเมื่อมนุษย์ ซึ่งเป็นห่วงหนึ่งในโซ่อาหาร จับปลามาเป็นอาหาร ก็รับประทานสารพิษนี้เข้าไปด้วย

ในการประชุมสุดยอดเรื่องมหาสมุทรเมื่อต้นเดือนกันยายน ซึ่งมีราวๆ 90 ประเทศเข้าร่วมด้วย สหรัฐฯ และอีกห้าประเทศคือ มอริเชียส มอร็อกโค กาน่า ฝรั่งเศส และเซเนกัล ประกาศมาตรการควบคุมการผลิต การใช้ การนำเข้า และการทิ้งขยะพลาสติก ในขั้นตอนต่างๆ กัน รวมทั้งการห้ามใช้ถุงพลาสติกครั้งเดียวแล้วทิ้งด้วย

สำนักงานมหาสมุทรและบรรยากาศแห่งชาติ หรือ NOAA ของสหรัฐบอกว่า แม้มาตรการเหล่านี้จะยังไม่สามารถแก้ปัญหาพลาสติกในมหาสมุทรได้ แต่อย่างน้อยก็เป็นก้าวเล็กๆ ที่ถูกทาง และสนับสนุนการให้ความรู้เกี่ยวกับปัญหานี้ในฐานะเป็นมาตรการป้องกัน

โดยมีหลักการสามประการ คือ reduce reuse และ recycle

(รายงานเรื่องนี้ตีพิมพ์ไว้ในวารสาร Science)

XS
SM
MD
LG