เป็นเวลากว่าเดือนครึ่งแล้วที่โครงการนำร่องเปิดประเทศไทยภายใต้ชื่อ 'ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์' (Phuket Sandbox) ได้เปิดประตูรับต้อนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติกว่า 2 หมื่นคน ซึ่งพวกเขาได้ใช้จ่ายเงินร่วม 829 ล้านบาทกระตุ้นศรษฐกิจในพื้นที่ ผู้สื่อข่าววีโอเอไทย วีโอเอ จณิน ภักดีธรรม ได้เดินทางกลับไทยจากมหานครนิวยอร์ก เพื่อไปกักตัวกับโครงการดังกล่าว พร้อมนำข้อมูลการเข้าร่วมโครงการ 'ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์' และสถานการณ์ปัจจุบันในจังหวัดภูเก็ตมานำเสนอ
ช่วงแรกนี้ วีโอเอได้อธิบายถึงรายละเอียดของการเตรียมเอกสารต่างๆ อย่างกระชับ โดยเฉพาะการขอหนังสือรับรองการเช้าประเทศ (Certificate of Entry หรือ COE) ที่ถูกต้อง และขั้นตอนการเดินออกทางจากท่าอากาศนานาชาติในสหรัฐฯ จนการเช็คอินทั้ง 4 โซนเมื่อเดินทางถึงภูเก็ต
จากนั้น ผู้ประกอบการทั้งเล็กและใหญ่หลายรายในพื้นที่เปิดใจคุยกับวีโอเอ ตั้งแต่แม่ค้าขายน้ำริมหาดป่าตอง ผู้ประกอบการธุรกิจดำน้ำ ผู้ที่ต้องผันอาชีพจากเจ้าของธุรกิจทัวร์มาเป็นผู้จัดการร้านทำเล็บ จนถึงผู้อำนวยการจัดการโรงแรมขนาดใหญ่ในย่านหาดบางเทา ซึ่งส่วนใหญ่นั้นรู้สึกดีใจที่ภูเก็ตเริ่มกลับมามีสีสันอีกครั้ง แม้จำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้ที่ผู้ประกอบการได้รับกว่าจะต่ำกว่าที่หลายคนคาดไว้ก็ตาม
ส่วนทางด้านนักท่องเที่ยวต่างชาติที่วีโอเอได้เข้าไปสัมภาษณ์นั้น ต่างก็เข้าใจถึงกฎที่เคร่งครัดต่างๆ ของรัฐบาลไทยเพื่อควบคุมการระบาดของโควิด พวกเขาบอกว่ารู้สึกพอใจกับบรรยากาศของภูเก็ตที่ค่อนข้างจะเงียบสงบ ซึ่งต่างออกไปจากภาพงานสังสรรค์และกิจกรรมริมหาดมากมายที่หลายคนคุ้นตากัน นักท่องเที่ยวบางคนพูดว่าเขาชอบที่คนน้อย หาดทรายดูสะอาดตา บ้างก็บอกว่าประทับใจกับความสวยงามของประเทศไทยและเลือกที่จะเข้าร่วมโครงการนี้เพราะคุ้มเงินกว่าการไปพักผ่อนที่ประเทศอื่นๆ
ตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคมเป็นต้นไป การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้เดินหน้าเปิดประเทศไทยตามแผนที่วางไว้และประกาศเริ่มโครงการส่วนขยาย ของ 'ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์' หรือ 'ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์' 7+7 ซึ่งอนุญาตให้นักท่องเที่ยวที่กักตัวในภูเก็ตแล้ว 7 วัน สามารถเดินทางไปกักตัวอีก 7 วันที่เหลือในจังหวัดกระบี่ พังงา หรือ สุราษฎร์ธานีได้ ทั้งนี้ สถานการณ์การบินและการเดินทางภายในประเทศไทยยังคงจำกัดอยู่ เนื่องจากการระบาดของโควิดยังรุนแรงและจำนวนยอดผู้ติดเชื้อในประเทศอยู่ที่ประมาณ 20,000 คนต่อวันมาตั้งแต่ช่วงกลางเดือนสิงหาคม