ลิ้งค์เชื่อมต่อ

'ฟิลิปปินส์' อาสาช่วย 'ปาปัวนิวกีนี' ปลูกข้าวเพื่อสร้างความหลากหลายของแหล่งรายได้


Different rice varieties are pictured at a food stall in the mountain resort of Baguio city in northern Philippines, April 17, 2016.
Different rice varieties are pictured at a food stall in the mountain resort of Baguio city in northern Philippines, April 17, 2016.
please wait

No media source currently available

0:00 0:03:50 0:00

สำนักงานของประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ในกรุงมะนิลารายงานว่า เจ้าหน้าที่ของฟิลิปปินส์กับปาปัวนิวกีนีได้ลงนามในข้อตกลงเมื่อวันพุธที่เเล้ว เพื่อร่วมมือกันด้านเกษตรกรรม โดยเฉพาะการปลูกข้าว การเลี้ยงปลาน้ำจืด เเละการปลูกพืชอุตสาหกรรม

โจนาธาน เรฟวีลาส (Jonathan Ravelas) หัวหน้านักยุทธศาสตร์ด้านการตลาด แห่งธนาคาร Banco de Oro UniBank ในกรุงมะนิลา กล่าวว่า ข้าวน่าจะเป็นเรื่องหลักในข้อตกลงความร่วมมือของสองประเทศ เพราะฟิลิปปินส์มีประสบการณ์ในการแบ่งปันความรู้เกี่ยวกับเทคนิคการปลูกข้าวกับต่างประเทศมาก่อนนี้

เขากล่าวว่า การปลูกข้าวมีความละเอียดอ่อนโดยเฉพาะหากเป็นประเทศเขตร้อน เพราะก่อนถึงฤดูเก็บเกี่ยว ฝนมักจะตก เเละฟิลิปปินส์มีหน่วยงานวิจัยข้าวที่พัฒนาพันธุ์ข้าวหลากหลายสายพันธุ์ด้วยกัน รวมทั้งพันธุ์ข้าวที่ทนทานต่อน้ำ

ฟิลิปปินส์ในฐานะประเทศกำลังพัฒนาได้รับความช่วยเหลือจากนานาชาติมูลค่าหลายพันล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ มาตลอด ทั้งในรูปของความช่วยเหลือให้เปล่า และข้อตกลงด้านการลงทุนจากชาติอื่นๆ

คริสเตียน เด กุซมัน (Christian de Guzman) รองประธานเเละหัวหน้าเจ้าหน้าที่ด้านเครดิตแห่งบริษัทมู้ดดี้ส์ ในสิงคโปร์กล่าวว่า ในขณะนี้ ปาปัวนิวกีนีต้องการความช่วยเหลือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจให้หลากหลายมากขึ้น หลังราคาน้ำมันโลกที่ลดลงได้กระทบต่อธุรกิจน้ำมันเเละแก๊ส

เขากล่าวว่า เมื่อหลายปีก่อน ปาปัวนิวกินี เคยคาดว่าราคาน้ำมันจะสูงขึ้นไปถึง 100 ดอลล่าร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ทำให้รัฐบาลเพิ่มค่าใช้จ่ายขึ้นไปสูงมากจนส่งผลให้เดือดร้อนทางการเงินในปัจจุบัน

เด กุซมัน กล่าวว่าข้อตกลงความร่วมมือทางการเกษตรกับฟิลิปปินส์เป็นส่วนหนึ่งของแผนสร้างความหลากหลายทางเศรษฐกิจของปาปัวนิวกีนี เพราะไม่ต้องการให้เศรษฐกิจของประเทศขึ้นอยู่กับธุุรกิจน้ำมันเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป

บริษัทให้บริการด้านอาชีพ พีดับบลิวซี (PwC) กล่าวว่าในปี ค.ศ. 2014 ปาปัวนิวกินีเริ่มต้นอุตสากรรมน้ำมันเเละแก๊สธรรมชาติเพื่อการค้า ทำให้รายได้จากน้ำมันดิบ แก๊สธรรมชาติ เเละเชื้อเพลิงชนิดอื่นๆ ถือเป็น 60 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ทั้งหมดของประเทศ เเละผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศลดลงจาก 10.5 เปอร์เซ็นต์ไปอยู่ที่ 2 เปอร์เซ็นต์ในปี ค.ศ. 2016 เเละธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชียได้คาดการณ์ว่าจะลดลงอีก 1.3 เปอร์เซ็นต์ก่อนปลายปีนี้

นายปีเตอร์ โอเนล (Peter O’Neill) นายกรัฐมนตรีแห่งปาปัวนิวกินี กล่าวต่อที่ประชุมทางธุรกิจในออสเตรเลียว่า ต้องเพิ่มความหลากหลายทางแหล่งรายได้ของประเทศเพื่อหลีกเลี่ยงฟองสบู่ทางเศรษฐกิจ

ฟิลิปปินส์มีข้าวหลายร้อยสายพันธุ์ รวมทั้งข้าวที่ทนทานต่อน้ำและพายุไต้ฝุ่น สถาบันข้าวที่เรียกว่า PhilRice ของรัฐบาลฟิลิปปินส์ดำเนินการมานาน 33 ปีแล้ว และเคยช่วยเหลือด้านการปลูกข้าวแก่บรูไน เเละชาติต่างๆ ในแอฟริกา

นักวิเคราะห์หลายคนชี้ว่า ฟิลิปปินส์อาจจะได้รับผลตอบเเผนต่อความช่วยเหลือที่ให้แก่ปาปัวนิวกินี

ชาวฟิลิปปินส์ทำงานอยู่ในปาปัวนิวกีนีในฐานะเเรงงานต่างด้าวจำนวน 15,500 คน ตามตัวเลขในปี ค.ศ. 2012 เเต่ตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นตลอดเวลา เเละคาดว่าเเรงงานชาวฟิลิปปินส์เหล่านี้จะมีบทบาทในการช่วยปาปัวนิวกินีพัฒนาด้านการปลูกข้าว

ในทางกลับกัน เเรงงานเหล่านี้จะส่งเงินกลับไปยังฟิลิปปินส์หลายพันล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ต่อปี

คาร์ล เบคเคอร์ (Carl Baker) ผู้อำนวยการด้านโครงการแห่งสถาบันคลังสมอง แปซิฟิก ฟอรัม ซีเอสไอเอส (Pacific Forum CSIS) ในฮอนโนลูลู ชี้ว่า การที่ทางการฟิลิปปินส์ช่วยเหลือปาปัวนิวกีนีเรื่องการปลูกข้าวนี้ น่าจะเป็นเพราะว่าฟิลิปปินส์ต้องการให้ปาปัวนิวกินียกเลิกข้อห้ามเรือต่างประเทศจับปลาทูน่า เพราะมีเรือประมงจำนวนหนึ่งจากเกาะมินดาเนา ทางใต้ของฟิลิปปินส์ เข้าไปจับปลาทูน่าในน่านน้ำของปาปัวนิวกีนีเพื่อนำปลากลับไปแปรรูปในประเทศ

(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)

XS
SM
MD
LG