ลิ้งค์เชื่อมต่อ

งานวิจัยชี้ 'คนอเมริกันเชื้อสายเอเชีย' ตัวใหญ่ ดูเป็น 'อเมริกันชน' มากกว่าคนตัวผอม


นสพ. New York Times เผยแพร่รายงานเกี่ยวกับผลวิจัยชิ้นใหม่ที่ระบุว่า น้ำหนักตัวอาจทำให้ชาวเอเชียในอเมริกา ถูกมองว่ามีความเป็นอเมริกันแตกต่างกันไป

รายงานที่ตีพิมพ์ในวารสารของสมาคมจิตวิทยา Psychological Science ชี้ว่า คนอเมริกันเชื้อสายเอเชียที่มีน้ำหนักตัวมาก หรือ Overweight อาจถูกมองว่ามีความเป็นคนอเมริกัน มากกว่าคนเอเชียที่มีน้ำหนักตัวปกติ

รายงานยังพบด้วยว่า ชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียที่มีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน มีโอกาสน้อยกว่าที่จะถูกมองว่าเป็นคนเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย

รายงานวิจัยชิ้นนี้ได้ทำทดสอบกับกลุ่มตัวอย่างกว่า 1,200 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย และมีบางส่วนที่ใช้วิธีตอบแบบสอบถามออนไลน์ โดยให้กลุ่มตัวอย่างดูรูปถ่ายของบุคคลหลากหลายเชื้อชาติ ที่มีน้ำหนักตัวแตกต่างกัน และให้ลองตอบว่าแต่ละคนนั้นเชื้อชาติและสัญชาติใด

ผช.ศ. Sapna Cheryan แห่ง University of Washington ซึ่งเป็นผู้ร่วมจัดทำรายงานวิจัยชิ้นนี้ บอกว่า ผลวิจัยพบว่า น้ำหนักตัวที่เกินมาตรฐานทำให้ชาวเอเชียในอเมริกาบางคนถูกมองว่ามีความเป็นอเมริกันชนมากกว่า และถูกตั้งคำถามถึงสถานะการอยู่อาศัยอย่างถูกต้องตามกฎหมายในสหรัฐฯ น้อยกว่าคนน้ำหนักตัวน้อย ซึ่งถือเป็นประโยชน์ทางสังคมที่เกิดขึ้นจากการรับรู้ของคนทั่วไป

นักวิจัยระบุด้วยว่า ผลที่เกิดขึ้นนั้นมิได้เกิดกับคนเชื้อชาติหรือสีผิวอื่น ไม่ว่าจะเป็น ผิวขาว ผิวดำ หรือคนเชื้อสายลาตินอเมริกา

ด้วยเหตุนี้งานวิจัยจึงสันนิษฐานว่า อาจเป็นเพราะคนทั่วไปมีความรู้สึกว่าคนเอเชียเป็นคนรูปร่างผอม ในขณะเดียวกันก็รู้สึกหรือรับรู้ว่าคนอเมริกันส่วนใหญ่ต้องเป็นคนตัวใหญ่ หรือมีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน

ดังนั้น เมื่อเห็นคนอเมริกันเชื้อสายเอเชียที่ตัวใหญ่กว่าปกติ จึงมีความเชื่อมากขึ้นว่าคนๆ นั้นเป็นพลเมืองอเมริกัน

งานวิจัยของ University of Washington ชิ้นนี้ ช่วยทำให้เกิดคำถามให้ไปคิดกันต่อ ว่าการตัดสินคนตามค่านิยมเฉพาะกลุ่ม หรือ Stereotype มีผลกระทบต่อการรับรู้ถึงอัตลักษณ์ที่แท้จริงของคนๆ นั่น หรือไม่ อย่างไร

ตัวอย่างเช่น คนอเมริกันเชื้อสายเอเชียชอบแสดงออกทางอารมณ์หรือแสดงความคิดเห็น อาจถูกมองว่ามีความเป็น “อเมริกันชน” มากกว่าคนเอเชียทั่วไปที่มักสงบเสงี่ยมและสงวนท่าที

(ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียงรายงานจาก New York Times)

XS
SM
MD
LG