ลิ้งค์เชื่อมต่อ

5 ประเด็นสำคัญที่น่าจับตามองระหว่างที่ ปธน.โอบาม่า เดินทางเยือนเอเชีย 4 ประเทศ


please wait

No media source currently available

0:00 0:05:14 0:00
Direct link

ปธน.สหรัฐ Barack Obama เดินทางถึงญี่ปุ่นในวันพุธ เพื่อเริ่มกำหนดการเยือน 4 ประเทศในเอเชีย คือญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ เป็นเวลา 7 วัน เป้าหมายเพื่อเน้นย้ำบทบาทของสหรัฐในเอเชีย และยืนยันนโยบายมุ่งเน้นมาทางเอเชียหรือ Asia Pivot ซึ่งประกาศไว้เมื่อ 3 ปีที่แล้ว

ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของรัฐบาลสหรัฐ Susan Rice กล่าวไว้เมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้วว่า แม้กำหนดการเยือนเอเชียของ ปธน. Barack Obama จะถูกมองว่าเป็นความพยายามควบคุมโอบล้อมจีน แต่ตนยืนยันว่าการเยือนเอเชียครั้งนี้เป็นโอกาสอันดีที่อเมริกาจะสามารถกระชับความสัมพันธ์กับพันธมิตรในเอเชียให้เข้มแข็งก้าวหน้า และเป็นโอกาสที่จะพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ยังเป็นการยืนยันนโยบายของสหรัฐที่มุ่งเน้นมาทางเอเชียหรือ Asia Pivot ด้วย

สำนักข่าว ABC News และ Washington Post ระบุปัจจัยต่างๆ ที่ควรจับตามองระหว่างการเยือนเอเชียของผู้นำสหรัฐในครั้งนี้ ซึ่งสรุปได้เป็น 5 ประเด็นใหญ่ๆ

หนึ่งคือปัจจัยเกี่ยวกับจีน - การที่จีนมิได้เป็นจุดหมายหนึ่งในการเยือนเอเชียครั้งนี้ ทำให้นักวิเคราะห์มองว่า ปธน.Obama เยือน 4 ประเทศที่ล้วนกำลังมีข้อพิพาทด้านพรมแดนทางทะเลกับจีน เพราะต้องการควบคุมอิทธิพลของจีนทั้งทางเศรษฐกิจและการทหาร โดยที่ผ่านมาดูเหมือนสหรัฐหันไปให้ความสำคัญกับซีเรีย ตะวันออกกลางและยูเครน มากกว่าทางเอเชียตะวันออกดังที่เคยประกาศไว้เมื่อ 3 ปีที่แล้ว และเป็นช่วงเดียวกับที่จีนขยายอานุภาพทางทหาร และมีข้อพิพาทด้านพรมแดนกับประเทศเพื่อนบ้านรุนแรงยิ่งขึ้น

ทั้ง 4 ประเทศที่ ปธน.Obama กำลังไปเยือนนี้ต่างต้องการทราบแน่ชัดว่าการเพิ่มความสัมพันธ์ทางทหารกับสหรัฐจะช่วยต้านทานอำนาจของจีนได้หรือไม่ ขณะที่สหรัฐเองก็ไม่ต้องการให้จีนเป็นกังวลกับการเยือนเอเชียของผู้นำสหรัฐครั้งนี้มากเกินไป โดยบรรดาเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลสหรัฐหลายคนได้ออกมาปฏิเสธว่าการเยือนเอเชียของ ปธน.Obama ครั้งนี้ไม่เกี่ยวกับจีนแต่อย่างใด

สองคือปัจจัยเกี่ยวกับเกาหลีเหนือ - เมื่อวานนี้เกาหลีใต้เพิ่งรายงานเกาหลีเหนืออาจกำลังวางแผนทดลองจรวดนิวเคลียร์อีกครั้ง ซึ่งทางกองทัพเกาหลีใต้ได้เตรียมพร้อมรับมือเรื่องนี้เต็มที่ ส่วนรัฐบาลสหรัฐเองก็กำลังจับตามองเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดเช่นกัน โดยเรื่องนี้จะเป็นประเด็นสำคัญในการหารือระหว่าง ปธน.Obama กับ ปธน.Park Geun-Hye ของเกาหลีใต้ด้วย

สามคือปัจจัยเรื่องเศรษฐกิจ หลายปีมาแล้วที่สหรัฐพยายามผลักดันข้อตกลงการค้าเสรีแถบเอเชีย-แปซิฟิก ภายใต้ชื่อ Trans Pacific Partnership หรือ TPP ซึ่งจีนมิได้เข้าร่วมด้วย สหรัฐหวังว่าข้อตกลงที่ว่านี้จะช่วยกระตุ้นการส่งออกของสหรัฐได้ราว 120,000 ล้านดอลล่าร์ต่อปี โดยเฉพาะการส่งออกรถยนต์อเมริกันไปยังตลาดเอเชียที่กำลังเติบโต คาดว่า ปธน.Obama จะนำประเด็น TPP นี้ไปหารือกับผู้นำเอเชีย โดยเฉพาะนายกฯ ของญี่ปุ่นและมาเลเซีย ซึ่งเป็น 2 ใน 12 ประเทศที่เข้าร่วมในข้อตกลงการค้าเสรีฉบับนี้

สี่คือปัจจัยด้านการทหาร - ปธน.Obama มีกำหนดจะพบปะและกล่าวปราศรัยต่อทหารอเมริกันเกือบ 70,000 คนที่ประจำการอยู่ในญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ เพื่อเน้นย้ำบทบาทความสำคัญทางทหารของสหรัฐในภูมิภาคเอเชียตะวันออก ส่วนที่ฟิลิปปินส์ ปธน.Obama มีกำหนดจะหารือเรื่องข้อตกลงที่อนุญาตให้เรือรบและเครื่องบินของกองทัพสหรัฐสามารถหมุนเวียนประจำการในฟิลิปปินส์ได้มากขึ้น รวมทั้งที่ฐานทัพอากาศ Clark และที่ฐานทัพเรือ Subic Bay ที่ซึ่งสหรัฐไม่มีสิทธิ์ใช้มาตั้งแต่ปี ค.ศ 1991 ส่วนที่มาเลเซียซึ่งไม่ได้เป็นพันธมิตรทางทหารกับสหรัฐนั้น คาดว่า ปธน.Obama จะหารือเรื่องการเพิ่มความร่วมมือทางทหารเพื่อค้นหาเครื่องบินโดยสารเที่ยวบิน MH370 ที่หายไปตั้งแต่วันที่ 8 มี.ค ซึ่งการเยือนมาเลเซียครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 50 ปีที่ปธน.สหรัฐเยือนมาเลเซียอย่างเป็นทางการด้วย

ห้าคือปัจจัยด้านความช่วยเหลือเพื่อบรรเทาทุกข์ - เนื่องจากทั้ง 4 ประเทศนั้นต่างประสบเหตุการณ์หรือภัยพิบัติร้ายแรงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยญี่ปุ่นนั้นเพิ่งจัดพิธีครบรอบ 3 ปีเหตุการณ์แผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์สึนามิถล่มจนนำไปสู่ภัยพิบัติทางนิวเคลียร์ครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่ง ส่วนฟิลิปปินส์ก็เพิ่งเผชิญกับพายุไต้ฝุ่นไห่เยี่ยนเมื่อปีที่แล้ว ขณะที่มาเลเซียก็กำลังเร่งค้นหาเครื่องบินโดยสารที่สูญหายไป เช่นเดียวกับเกาหลีใต้ที่กำลังรับมือกับเหตุการณ์เรือเฟอร์รี่ล่มอยู่ในขณะนี้ จึงเป็นโอกาสที่ ปธน.Obama จะเน้นย้ำถึงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่สหรัฐมีส่วนร่วมในแต่ละเหตุการณ์

และนั่นคือปัจจัยสำคัญ 5 ประการที่ควรจับตามองระหว่างที่ ปธน.Barack Obama เดินทางเยือนเอเชียเป็นเวลา 7 วันครั้งนี้

รายงานจาก VOA Washington Post และ ABC News / เรียบเรียงโดยทรงพจน์ สุภาผล
XS
SM
MD
LG