ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ประเด็นเกี่ยวกับพม่าและเรื่องสิทธิมนุษยชนกำลังเป็นประเด็นที่ทรงความสำคัญที่ประธานาธิบดีโอบามาต้องคำนึงถึงในการไปเยือนเอเชียในเดือนหน้า


ประเด็นเกี่ยวกับพม่าและเรื่องสิทธิมนุษยชนกำลังเป็นประเด็นที่ทรงความสำคัญที่ประธานาธิบดีโอบามาต้องคำนึงถึงในการไปเยือนเอเชียในเดือนหน้า
ประเด็นเกี่ยวกับพม่าและเรื่องสิทธิมนุษยชนกำลังเป็นประเด็นที่ทรงความสำคัญที่ประธานาธิบดีโอบามาต้องคำนึงถึงในการไปเยือนเอเชียในเดือนหน้า

การเลือกตั้งทั่วไปที่รัฐบาลทหารพม่าจัดขึ้นซึ่งจะทำกันในวันที่ 7 เดือนหน้านั้นตรงกับช่วงที่ประธานาธิบดี บารัค โอบามาอยู่ที่อินเดียอันเป็นประเทศประชาธิปไตยใหญ่ที่สุดในโลก ในการเยือนเอเชียของประธานาธิบดีโอบามานั้น ท่านประธานาธิบดีเยือนอินเดียก่อน แล้วจะไปเยือนอินโดนีเซีย ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ตามรายงานข่าวระบุว่า เจ้าหน้าที่อเมริกันกำลังตำหนิพม่าหนักขึ้นก่อนการเลือกตั้ง และกลุ่มสนับสนุนด้านสิทธิมนุษยชนกำลังเร่งเร้าท่านประธานาธิบดี ไม่ให้ปล่อยให้เรื่องสิทธิมนุษยชนมีความสำคัญน้อยกว่าประเด็นอื่นๆในการเจรจาทวิภาคีและการเจรจาด้านเศรษฐกิจระหว่างการเยือนเอเซีย

ระหว่างการเยือนเอเชียของประธานาธิบดี บารัค โอบามาในเดือนหน้านั้น จะมีวันสำคัญสำหรับพม่าซึ่งปกครองโดยคณะทหารนั้นอยู่ 2 วัน

วันที่ 7 เดือนพฤศจิกายนเป็นวันที่พม่าจะมีการเลือกตั้งทั่วประเทศเป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปี สหรัฐ ชาติตะวันตกและกลุ่มสนับสนุนสิทธิมนุษยชนเชื่อว่า การเลือกตั้งดังกล่าวจะเป็นการหลอกลวงคน และเรียกร้องให้สภาสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐของพม่าทำให้มั่นใจได้ว่าการเลือกตั้งจะเสรีและยุติธรรม

วันที่ 13 เดือนพฤศจิกายน ซึ่งเป็นช่วงที่ประธานาธิบดีโอบามาจะอยู่ที่ญี่ปุ่นเพื่อร่วมการประชุมสุดยอดของภาคี APEC การลงโทษกักบริเวณให้นางออง ซาน ซู จี ผู้เคยได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพอยู่แต่ในบ้านพักครั้งหลังสุดจะสิ้นสุดลง วงการทั่วไปไม่เชื่อว่าพม่าจะปล่อยนางออง ซาน ซู จี เป็นอิสระ

โฆษกของกระทรวงการต่างประเทศอเมริกัน P.J. Crowley กล่าวหาฝ่ายทหารพม่าโดยใช้ถ้อยคำรุนแรงว่า พยายามใช้เล่ห์เพทุบายโน้มน้าวทัศนะของสาธารณชนในโลกด้วยวิธีการกล่าวเป็นนัยๆว่าจะปล่อยนาง ออง ซาน ซู จี หลังการเลือกตั้ง

ส่วนกลุ่มสนับสนุนสิทธิมนุษยชนต่างๆเร่งเร้าประธานาธิบดีโอบามาว่าอย๋ายอมปล่อยให้ประเด็นเกี่ยวกับสิทธิสำคัญน้อยกว่าประเด็นอื่นๆระหว่างที่เยือนเอเชีย

คุณ T. Kumar ผู้อำนวยการขององค์การนิโทษกรรมสากลที่สหรัฐกล่าวว่า ทางองค์การของเขากำลังเร่งเร้าประธานาธิบดีโอบามาให้ยกเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพม่าและที่ศรีลังกามาเจรจาหารือระหว่างที่ท่านประธานาธิบดีเยือนอินเดีย ส่วนท่านประธานาธิบดีจะยกเรื่องเหล่านั้นขึ้นมาพูดจากันเป็นการภายในหรืออย่างเปิดเผยนั้นยังไม่ทราบได้ แต่คาดหมายว่าผู้สื่อข่าวโทรทัศน์และของหนังสือพิมพ์คงจะถามถึงเรื่องเหล่านั้น เราต้องการเร่งเร้าท่านประธานาธิบดีให้พูดอย่างหนักแน่นเมื่อมีการยกประเด็นเหล่านั้นทั้งในเรื่องการเลือกตั้งในพม่าและเรื่องการปล่อยนาง ออง ซาน ซู จี ขึ้นมาพูดจากัน

รัฐบาลอเมริกันดำเนินนโยบายแบบเกาะติดกับการเจรจากับฝ่ายทหารพม่าโดยหวังว่าจะเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพมากกว่าวิธีอื่นในการช่วยให้นาง ออง ซาน ซู จี และนักโทษการเมืองอื่นๆได้รับอิสรภาพ สหรัฐลงโทษทางเศรษฐกิจต่อพม่าไปตามลำพังในขณะนี้

ส่วนคุณ Jared Genser ทนายความของกลุ่ม “ Freedom Now” ณ กรุงวอชิงตันกล่าวว่า วิธีนั้นไม่ได้ผลและแนะประธานาธิบดี โอบามาใช้วิธีที่เข้มแข็งจริงจังยิ่งกว่านั้น

เมื่อตอนต้นปีนี้ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศอเมริกัน William Burns กล่าวว่า อินเดียในฐานะที่เป็นประเทศประชาธิปไตยที่ประสบความสำเร็จย่อมทรงความสำคัญในภูมิภาคนั้น ทั้งนี้เพราะบรรดาผู้นำผู้กล้าหาญ อย่างเช่น นาง ออง ซาน ซู จี ดิ้นรนต่อสู้แบบอหิงสาตามแบบฉบับของมหาตมะคานธี แต่ในการบรรยายสรุปสถานการณ์ให้ฟังที่ทำเนียบขาวเมื่อเร็วๆนี้ เขาไม่ยอมพูดว่า ท่านประธานาธิบดีจะถกเรื่องพม่ากับนายกรัฐมนตรีอินเดีย มาน โมฮัน ซิงห์ เมื่อมีการเจรจาหารือกันระหว่างผู้นำทั้งสองหรือไม่? แต่เขากล่าวว่า กล่าวโดยรวมแล้ว สหรัฐจะยังคงเน้นหนักในประเด็นเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนต่อไป

ขณะนี้ยังไม่ทราบว่า ผลของการเลือกตั้งในพม่าในวันที่ 7 เดือนหน้าจะเปลี่ยนโฉมของนโยบายเกาะติดเพื่อเจรจากับฝ่ายทหารพม่านั้นหรือไม่? นอกจากนี้ ยังไม่ทราบชัดว่ารัฐบาลอเมริกันมีจุดยืนอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องการแต่งตั้งผู้แทนพิเศษและผู้ประสานงานเกี่ยวกับพม่า ซึ่งสหรัฐจะต้องทำตามที่กฎหมายของสหรัฐเกี่ยวกับการลงโทษกำหนดไว้ อย่างไรก็ดี สหรัฐกำลังผลักดันให้มีการตั้งคณะกรรมการระหว่างประเทศชุดหนึ่งเพื่อสอบสวนเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพม่า

ในการกล่าวปราศรัยที่ศูนย์ East-West Center ที่รัฐฮาวาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอเมริกัน Hillary Clinton ดูเหมือนจะส่อท่าทีว่า สหรัฐตั้งใจจะกดดันฝ่ายทหารพม่าต่อไปเท่าเดิมหรือแรงยิ่งกว่าเก่า ท่านรัฐมนตรีกล่าวว่า สิ่งหนึ่งที่เราทราบกันในระยะสองสามปีมานี้ก็คือว่า ประชาธิปไตยนั้น การเลือกตั้งอย่างเดียวไม่พอ และเราจะทำให้ผู้นำของพม่า ทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ทราบอย่างชัดเจนว่า พวกเขาจะดำเนินนโยบายอย่างในอดีตไม่ได้อีกแล้ว ท่านรัฐมนตรีกล่าวข้างต้นตอนที่เริ่มออกเดินทางไปเยือนชาติทางเอเชียและย่านแปซิฟิก ซึ่งจะใช้เวลาเกือบสองสัปดาห์ การเดินทางของท่านรัฐมนตรีบางช่วงจะไปบรรจบกับการเดินทางเยือนเอเชียบางช่วงของประธานาธิบดี บารัค โอบามา ด้วย

XS
SM
MD
LG