ลิ้งค์เชื่อมต่อ

วิกฤติการณ์ปฏิกรณ์ปรมาณูในญี่ปุ่นทำให้เกิดความหวาดวิตกขึ้นมาใหม่ในเรื่องอันตรายของการถูกกัมมันตภาพรังสี


วิกฤติการณ์ปฏิกรณ์ปรมาณูในญี่ปุ่นทำให้เกิดความหวาดวิตกขึ้นมาใหม่ในเรื่องอันตรายของการถูกกัมมันตภาพรังสี
วิกฤติการณ์ปฏิกรณ์ปรมาณูในญี่ปุ่นทำให้เกิดความหวาดวิตกขึ้นมาใหม่ในเรื่องอันตรายของการถูกกัมมันตภาพรังสี

วิกฤติการณ์ปฏิกรณ์ปรมาณูในญี่ปุ่นทำให้เกิดความหวาดวิตกขึ้นมาใหม่ในเรื่องอันตรายของการถูกกัมมันตภาพรังสี นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า คนเราถูกกัมมันตภาพรังสีอยู่ทุกวัน

ขณะที่วิกฤติการณ์ด้านนิวเคลียร์ที่โรงไฟฟ้าปรมาณูฟูกุชิมาในญี่ปุ่นทำให้มีความวิตกในเรื่องอันตรายของกัมมันตภาพรังสีนั้น มีคำถามว่า ความหวั่นกลัววิตกกังวลนั้น เกินความเป็นจริง หรือเกินกว่าเหตุหรือไม่

Gerald Epstein แห่งสมาคมเพื่อความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ American Association for the Advancement of Science กล่าวว่า หลายคนอาจแปลกใจหากทราบว่า คนเราถูกกัมมันตภาพรังสีในระดับต่ำอยู่เสมอ ทั้งโดยธรรมชาติ อย่างในชั้นบรรยากาศ จากแสงแดด ในดิน และแม้กระทั่งในอาหาร พืชผักผลไม้บางอย่าง และจากอุปกรณ์เครื่องใช้ที่สร้างขึ้นมาใช้งานด้านต่าง ๆ

ผู้เชี่ยวชาญยกตัวอย่างว่า บางส่วนของธาตุโปแตสเซียมที่เราได้รับจากพืชผักผลไม้บางชนิดนั้น จริง ๆ แล้ว เป็นสารกัมมันตรังสีรูปแบบหนึ่ง และเราได้รับกัมมันตภาพรังสีโดยธรรมชาติในลักษณะนี้อยู่เสมอมา นอกจากนั้น เรายังถูกกัมมันตภาพรังสีจากอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น เครื่องตรวจความปลอดภัยตามท่าอากาศยานและสถานที่ต่าง ๆ และอุปกรณ์การแพทย์ อย่าง X-rays และ เครื่อง CT Scan ด้วย

Gerald Epstein กล่าวว่า ทุกชีวิตบนโลกเรา วิวัฒนาการมาโดยมีกัมมันตภาพรังสีอยู่โดยรอบ ฉนั้นไม่ว่าจะมีผลกระทบอย่างไร ก็เป็นผลกระทบที่มีอยู่ตลอดมา คำถามจึงอยู่ที่ว่า กัมมันตภาพรังสีที่รั่วไหลออกมาโรงไฟฟ้าปรมาณูที่ชำรุดเสียหายนั้น ทำให้เรามีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นอย่างไรหรือไม่

Gerald Epstein กล่าวว่า ในเกือบทุกสถานการณ์ นอกจากผู้ที่อยู่ในบริเวณใกล้ชิดโดยรอบที่เกิดเหตุแล้ว ความเสี่ยงอันตรายที่เพิ่มขึ้นสำหรับผู้อยู่ห่างไกลมีน้อยมาก

ไม่นานหลังจากภัยพิบัติด้านนิวเคลียร์ในญี่ปุ่น บริษัทยาหลายบริษัทในสหรัฐรายงานว่า มีผู้ติดต่อขอซื้อยาโปแตสเซี่ยมไอโอไดด์เป็นจำนวนมาก เพราะเชื่อว่ายาเม็ดนั้นจะช่วยป้องกันอันตรายจากสารกัมมันตรังสีที่รั่วไหลออกมาจากปฏิกรณ์ปรมาณูที่ชำรุดเสียหาย

Gerald Epstein แห่ง American Association For the Advancement of Science กล่าวว่า เขาไม่คิดว่า การรั่ไหลของกัมมันตภาพรังสีในแต่ละกรณีนั้นจะเป็นอันตรายในขอบเขตกว้างไกล และอันตรายที่พยายามหลีกเลี่ยงกัน อาจไม่ได้เป็นอันตรายมากอย่างที่อาจเกิดจากยาเม็ดนั้นด้วยซ้ำ

Gerald Epstein กล่าวว่า หลายประเทศอาจพิจารณาทบทวนแผนการสร้างโรงไฟฟ้าปรมาณูในอนาคตอันใกล้นี้ เขาเห็นว่า หากชาติต่าง ๆ หันหลังให้พลังงานปรมาณูซึ่งเป็นพลังงานสะอาดและผลิตได้เป็นปริมาณเหลือเฟือแล้ว ก็ต้องหาแหล่งพลังงานอื่น ซึ่งก็อาจมีความเสี่ยงหรือข้อเสียในรูปแบบอื่นแทน ฉนั้นจึงขึ้นอยู่กับว่า สาธารณชนจะพิจารณาตัดสินใจว่าต้องการอะไร และจะรับความเสี่ยงได้ในระดับไหน

XS
SM
MD
LG