ลิ้งค์เชื่อมต่อ

เทคนิคตั้งสติ 'หยุดช้อป' เมื่อเทรนด์ตั้งเป้าประหยัดกำลังมาเเรง 


อาเมีย แวดสเวิร์ธ ที่นครแซนดิเอโก หนึ่งในผู้ให้ความสนใจกับกระเเส 'no-buy challenge' บนโซเชียลมีเดีย
อาเมีย แวดสเวิร์ธ ที่นครแซนดิเอโก หนึ่งในผู้ให้ความสนใจกับกระเเส 'no-buy challenge' บนโซเชียลมีเดีย

ปกติโซเชียลมีเดียจะเต็มไปด้วยสิ่งล่อใจนักช้อป แต่ช่องทางนี้ยังเป็นเครื่องมือช่วยให้คนสร้างชุมชนของผู้ที่ต้องการประหยัด จนเกิดกระเเส no-buy challenge

บนเเพลตฟอร์ม Reddit กลุ่มผู้ใช้ที่ร่วมแบ่งปันประสบการณ์การใช้เงินอย่างมีสติ มีสมาชิกมากถึง 51,000 คน และการท้าแข่งความประหยัดบน TikTok ทำให้เกิดคลิปที่มีผู้ชมหลายแสนวิว

เอลิเชีย เบอร์แมน ที่อยู่เขตบรูคลินของนิวยอร์ก ผู้สร้างคอนเทนต์ออนไลน์ กล่าวถึงกระเเสที่คนตั้งเป้าไม่ซื้อของที่ไม่จำเป็นเป็นเวลา 1 ปี ว่า "เป็นการงดซื้อของใหม่ตลอด 1 ปีเต็ม และค่อนข้างที่จะเป็นกระเเสบน TikTok"

สำหรับเธอ ซึ่งยอมรับว่าเสพติดการช้อปปิ้ง เบอร์แมน ใช้การท้าเเข่งนี้ ช่วยจัดระเบียบการเงินของเเธอ เพื่อจ่ายหนี้บัตรเครดิตให้ได้

เทคนิคอย่างหนึ่งในการตั้งสติหยุดช้อป คือต้องทราบว่าจุดอ่อนของเราคืออะไร ไม่ว่าจะเป็นเครื่องสำอาง อาหาร หรือสินค้าชิ้นเล็ก ๆ ในแผนกของราคา 1 ดอลลาร์

มิอา เวสต์แรบ นักศึกษาปริญญาเอกจากเซาธ์เเธมตันประเทศอังกฤษกล่าวว่าจุดอ่อนของเธอคือน้ำอัดลม

เบอร์เเมนจากนิวยอร์ก ซึ่งมีผู้ติดตามกว่า 6 หมื่นคนบน TikTok เปรียบเทียบว่า การเสพติดการซื้อเสื้อผ้าของเธอ เหมือนการติดเหล้า "TikTok เป็นเหมือนคนที่ช่วยสนับสนุนให้เลิก ...ชุมชนที่ฉันสร้างขึ้น มีคนจำนวนมากที่กำลังมีประสบการณ์แบบเดียวกัน มันมีประโยชน์กันฉันทั้งในเเง่ที่เกี่ยวกับการใช้ชีวิตของฉันและความรู้สึกที่ว่าฉันได้ช่วยคนอื่นด้วย"

เสียงสะท้อนเรื่องประโยชน์ของสื่อออนไลน์ อาจจะต่างกับผู้ที่ถูกกระตุ้นให้ซื้อของจากการดูคลิปของอินฟลูเอ็นเซอร์ทางโซเชียลมีเดีย

คอร์ทนีย์ อะเลฟ เจ้าหน้าที่ส่งเสริมด้านการเงินลูกค้าของบริษัท Credit Karma กล่าวถึงเทคนิคที่สองคือ กดเลิกติดตามบัญชีโซเชียลมีเดียที่ทำให้เกิดความอยากซื้อและนำมาซึ่งการจ่ายเงินไปกับของที่ไม่จำเป็น

อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนพฤติกรรมจับจ่ายโดยทันทีเพื่อให้เกิดผลยาวนาน 1 ปี ไม่ใช่เรื่องง่าย

แคร์รี เเรตเทิล ซีอีโอของบริษัท Behavioral Cents ที่ให้คำแนะนำเรื่องการเงิน กล่าวว่า อย่าคิดว่าตนเองล้มเหลวถ้าทำไม่ได้ตามเป้า แต่ให้คิดว่า 'วิธี' ที่ทำอยู่มีปัญหา

ผู้ที่ต้องการประหยัดบางคนจึงสร้างกฎที่เหมาะกับตนเอง เช่นไม่ซื้อเสื้อผ้าใหม่และใช้เงินเพื่อให้ได้ใช้เวลากับคนที่รักแทน และจากนั้นค่อย ๆ ปรับกฎเหล่านั้น ตามความเหมาะสม

อีกเทคนิคหนึ่งที่ใช้ห้ามใจจากการซื้อของด้วยการตัดสินใจชั่ววูบ มาจาก อาเมีย แวดสเวิร์ธ ที่นครแซนดิเอโก ในรัฐเเคลิฟอร์เนีย ที่บอกว่าเเทนที่จะควักเงินซื้อของที่อยากได้ทันที เธอจะทำลิสต์ และกลับมาดูหนึ่งเดือนจากนั้น ว่ามีสิ่งใดบ้างที่ควรจะเป็นเจ้าของ

เอลิเชีย เบอร์เเมนกล่าวส่งท้ายว่า การประหยัดผ่านเเคมเปญ 'งดช้อป 1 ปี' ทำให้เธอมั่นใจในการเอาชนะอุปสรรคต่างๆ ด้วย

"การตั้งเป้าควบคุมการใช้เงินเป็นอะไรที่กว้างมาก พอบอกกับตัวเองว่าจะไม่ซื้อของเป็นเวลา 12 เดือนแล้วยึดมั่นตามนั้น มันพิสูจน์ให้ฉันรู้ว่าฉันสามารถทำอะไรก็ได้ ถ้าตั้งใจ"

  • ที่มา: เอพี

กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG