พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยของพม่าหรือ NLD เรียกร้องเมื่อวันอังคาร ขอให้มีการหารือกับสหรัฐ สหภาพยุโรป แคนาดาและออสเตรเลียเพื่อตัดสินใจเกี่ยวกับมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจต่อพม่าว่า ควรมีการปรับเปลี่ยนมาตรการลงโทษเมื่อไหร่ อย่างไร ภายใต้เงื่อนไขใด จึงจะเป็นประโยชน์ต่อแนวทางประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชนและสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็งของพม่า
ก่อนหน้านี้ สมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน สนับสนุนให้ยกเลิกมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจต่อพม่า โดยนักวิเคราะห์ให้เหตุผลว่ามาตรการดังกล่าวเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของอาเซียน และเป็นการผลักให้พม่าใกล้ชิดกับจีนยิ่งขึ้น ที่ผ่านมารัฐบาลจีนเพิกเฉยต่อการลงโทษพม่าและอาศัยจังหวะเข้าไปทำธุรกิจและลงทุนในประเทศที่ยากจนแต่มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ประเทศนี้
อย่างไรก็ตาม คุณ Maung Zarni นักวิจัยแห่ง London School of Economics ชี้ว่ามาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจไม่ใช่ต้นเหตุของความยากจนในพม่า คุณ Zarni ระบุว่าสิ่งที่ส่งผลร้ายต่อชีวิตชาวพม่าโดยแท้จริงแล้วคือการปกครองระบอบทหารที่ปฏิเสธการปฏิรูปทางเศรษฐกิจและด้านอื่นๆซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการ พัฒนาพม่า
มาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจต่อรัฐบาลพม่านั้นเริ่มใช้เมื่อ 18 ปีก่อนเพื่อกดดันพม่าด้านสิทธิมนุษยชนและการปฏิรูปการเมือง โดยเริ่มจากการห้ามขายอาวุธให้แก่พม่าและขยายไปเป็นการห้ามนำเข้าสินค้าบางประเภทจากพม่าเช่นไม้และอัญมณี รวมทั้งห้ามทำธุรกรรมการเงินกับพม่า ถึงกระนั้น พม่ายังคงค้าขายและลงทุนร่วมกับจีน อินเดียและประเทศเพื่อนบ้านแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ที่ผ่านมานาง Aung San Suu Kyi และพรรค NLD ยืนยันสนับสนุนมาตรการลงโทษดังกล่าวมาโดยตลอด แต่ล่าสุดทางพรรคเสนอว่าจะทบทวนเรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม แถลงการณ์ในวันอังคารของพรรค NLD ระบุว่าไม่ควรยกเลิกมาตรการลงโทษจนกว่ารัฐบาลพม่าจะยินยอมปล่อยตัวนักโทษการเมืองมากกว่า 2 พันคน
คุณ Maung Zarni เชื่อว่ามาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจนั้นคืออุปสรรคด่านสุดท้ายของรัฐบาลทหารพม่าในความพยายามสร้างการยอมรับและความชอบธรรมในประชาคมโลก นักวิจัยผู้นี้ชี้ว่าขณะนี้รัฐบาลพม่าไม่สนใจว่าประชาชนในประเทศจะยอมรับหรือไม่ สิ่งที่ต้องการคือการยอมรับจากต่างชาติ แต่เขาไม่เชื่อว่ารัฐบาลพม่าจะยินยอมปฏิรูปทั้งทางเศรษฐกิจและสิทธิมนุษยชนตามที่ประเทศตะวันตกต้องการเพื่อให้มาตรการลงโทษต่างๆถูกยกเลิกไป
ด้านนาย Kurt Campbell ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฝ่ายกิจการเอเชียตะวันออกกล่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่ายังเร็วเกินไปที่สหรัฐจะยกเลิกมาตรการลงโทษพม่า และว่าสหรัฐต้องการเห็นการปฏิรูปที่เป็นรูปเป็นร่างมากกว่าเดิมจากรัฐบาลทหารพม่า