เมื่อวานนี้ข่าวใหญ่จากรัฐสภาอเมริกันคือเรื่องการประกาศลาออกจากตำแหน่ง ‘House Speaker’ ของ ส.ส. พอล ไรอัน ด้วยเหตุผลที่ว่าเขาต้องการใช้เวลามากขึ้นกับครอบครัว
ชื่อตำแหน่ง ‘House Speaker’ ของสหรัฐฯ คือประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งใช้ได้เช่นกันหากจะเรียกตำแหน่งนี้ในประเทศไทยเป็นภาษาอังกฤษ
พอล ไรอัน ยังมีเพื่อนร่วมงาน เป็น ‘House Majority Leader’ หรือผู้นำเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วยตำแหน่ง Whip รัฐบาล ซึ่งก็คือผู้ที่ดูแลให้สมาชิกพรรคมาร่วมประชุมสภาและลงมติ
ทางด้านพรรคเดโมแครต เป็นเป็นเสียงข้างน้อย ตำแหน่งสูงสุดของพรรคในสภาผู้แทนราษฎร เรียกว่าผู้นำเสียงข้างน้อย ภาษาอังกฤษใช้คำว่า ‘House Minority Leader’
นอกจากนี้เดโมแครตก็มีตำแหน่ง ‘Whip’ เสียงข้างน้อยเช่นกัน
โครงสร้างการทำงานนี้เหมือนกันกับในวุฒิสภาสหรัฐฯ ซึ่งเรียกว่า Senate คือมี ‘Senate Majority Leader’, ‘Senate Minority Leader’ และ ‘Whip’ ของทั้งสองพรรค
ตำแหน่งอาวุโสทางการเมืองที่อาจไม่ค่อยคุ้นหูกันเท่าไหร่สำหรับวุฒิสภา คือ ‘President pro tempore’ ที่มาของตำแหน่งนี้ เกี่ยวกับบทบาทของรองประธานาธิบดีที่ต้องเป็น ‘ประธาน’ ของวุฒิสภาโดยตำแหน่ง แม้ว่าจะเป็นวุฒิสมาชิกหรือไม่ก็ตาม
หากว่ารองประธานาธิบดีไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวได้ ‘President pro tempore’ ซึ่งต้องเป็น ส.ว. จะรับงานเป็น ‘ประธาน’ วุฒิสภาแทน หากแปลจากต้นภาษา คำนี้มีความหมายว่า ประธานผู้ทำหน้าที่ชั่วคราว
ปัจจุบันผู้ดำรงตำแหน่ง ‘President pro tempore’ คือ ส.ว. ออร์ริน แฮชท์ วัย 84 ปี
ตำแหน่งนี้แม้จะเป็นเพียงบทบาททางพิธีการ แต่ ‘President pro tempore’ คือบุคคลที่มีความอาวุโสลำดับที่ 3 ตามรัฐธรรมนูญ ที่จะขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี หากว่าประธานาธิบดี รองประธานาธิบดี และประธานสภาผู้แทนราษฎร ประสบกับเหตุการณ์ที่ทำให้ไม่สามารถดำรงตำแหน่งผู้นำฝ่ายบริหารของประเทศได้
(รัตพล อ่อนสนิท เรียบเรียง)