ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ความฝันในการสร้าง Silicon Valley ในนครนิวยอร์คยังห่างไกลความจริง แม้มีเม็ดเงินลงทุนมหาศาลในด้านนี้


please wait

No media source currently available

0:00 0:04:20 0:00
Direct link

การคาดหมายว่าเมืองใดเมืองหนึ่งจะกลายเป็น Silicon Valley แห่งต่อไปนั้นไม่ใช่เรื่องยาก แต่การจะทำให้กลายเป็นความจริงได้นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง มหานครนิวยอร์คกำลังเรียนรู้เรื่องนี้ หลังจากที่ยังไม่มีบริษัทเทคโนโลยีในนิวยอร์คที่ก้าวขึ้นมาเป็นยักษ์ใหญ่ในวงการเทคโนโลยีของอเมริกาได้ แม้มีเม็ดเงินลงทุนในด้านนี้จำนวนมหาศาลหลั่งไหลเข้าไปในมหานครแห่งนี้

ไม่กี่ปีก่อนทั้งเจ้าหน้าที่และผู้บริหารของนครนิวยอร์ค ได้ประกาศความหวังอันยิ่งใหญ่ว่าจะทำให้นิวยอร์ค กลายเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีอีกแห่งหนึ่งของอเมริกาเหมือนกับ Silicon Valley ในรัฐแคลิฟอร์เนีย โดยได้เร่งจัดหาเงินทุนเพื่อส่งเสริมการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ไปจนถึงการอนุมัติให้เปิดวิทยาเขตของมหาวิทยาลัย Cornell บนเกาะ Roostvelt ซึ่งจะมุ่งเน้นไปที่เทคโนโลยีโดยเฉพาะ เพื่อแข่งขันกับมหาวิทยาลัย Stanford ในแถบซานฟรานซิสโกของรัฐแคลิฟอร์เนีย

การเติบโตของบริษัทผลิต app ยอดนิยมอย่าง Foursquare ที่มีศูนย์กลางอยู่ที่นครแมนฮัตตัน ทำให้อนาคตของ Silicon Valley ในนิวยอร์คยิ่งดูสดใสในช่วงแรก ตั้งแต่นั้นเงินทุนจำนวนมากหลั่งไหลเข้าไปในภาคเทคโนโลยีของนิวยอร์คในอัตราที่รวดเร็ว คือเพิ่มขึ้นราว 200% ในช่วงปี ค.ศ 2009 – 2013 จากระดับ 800 ล้านดอลล่าร์เป็น 3 พันล้านดอลล่าร์ เทียบกับปริมาณเงินทุน 11,400 ล้านดอลล่าร์ใน Silicon Valley ที่แคลิฟอร์เนีย

บริษัทเทคโนโลยีต่างๆ หลายสิบแห่งที่เริ่มก่อตั้งขึ้นในนครนิวยอร์คมีลูกค้าเพิ่มขึ้นหลายล้านคน นอกจาก Foursquare แล้วยังมีอีกหลายบริษัทที่มีการเติบโตอย่างน่าจับตามอง เช่น Canary ผู้ผลิตระบบกันขโมยที่ควบคุมจากโทรศัพท์มือถือ บริษัท FiftyThree ผู้ออกแบบ app สำหรับอุปกรณ์มือถือ บริษัท MongoDB ผู้ให้บริการ cloud service บริษัท AppNexus ผู้บริการโฆษณาออนไลน์ MakerBot ผู้ให้บริการเครื่องพิมพ์ 3มิติ รวมทั้ง Fab.com บริษัทขายปลีกออนไลน์ที่ได้รับการคาดหมายว่าจะกลายเป็น Amazon.com รายต่อไป

ถึงกระนั้น การที่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีบริษัทเทคโนโลยีรายใดในนิวยอร์คที่สามารถก้าวขึ้นมาเป็นยักษ์ใหญ่ในวงการเทคโนโลยีได้เหมือนกับ Google Facebook Twitter eBay Yelp หรือ Dropbox ของทางฝั่งแคลิฟอร์เนีย ทำให้หลายคนที่เป็นผู้ผลักดันโครงการนี้เริ่มเกิดอาการท้อแท้ผิดหวัง บางคนชี้ว่าความตื่นเต้นกระตือรือร้นในการปลุกกระแส New York’s Silicon Valley เริ่มหดหายไป หลายบริษัทที่ทำท่าว่าจะกลายเป็นปรากฎการณ์ใหม่ในโลกเทคโนโลยีอย่าง Foursquare Tumblr และ Fab.com ก็เริ่มเสื่อมความนิยมลง ทำให้นักลงทุนจำนวนมากที่เคยฝากอนาคตไว้กับบริษัทเทคโนโลยีในนิวยอร์ค เริ่มมองหาแหล่งลงทุนแห่งใหม่ เช่นในแคนาดาและยุโรป

นักวิเคราะห์บางคน เช่นคุณ Roelof Botha แห่งบริษัทเงินทุน Sequoia Capital ใน Silicon Valley มองว่า นิวยอร์คเป็นเมืองที่เหมาะกับบริษัทเทคโนโลยีที่เริ่มตั้งตัวหรือ บริษัทที่กำลังขยายตลาดในระยะกลาง มากกว่าจะเป็นศูนย์กลางหรือฐานที่มั่นหลักของบริษัทยักษ์ใหญ่ทางเทคโนโลยี ส่วนหนึ่งเชื่อว่าเป็นเพราะนิวยอร์คมิได้เป็นส่วนหนึ่งในระบบนิเวศน์ของ Silicon Valley หรือมีสภาพแวดล้อมในลักษณะที่ผู้คนทั่วไปพูดคุยกันและสรรหาความรู้เรื่องเทคโนโลยีใหม่ๆ ตลอดเวลา ซึ่งถือเป็นข้อได้เปรียบอย่างหนึ่งของ Silicon Valley ในแถบซานฟรานซิสโกที่มีทรัพยากรบุคคลในด้านนี้เกิดขึ้นตลอดเวลา

อีกประการหนึ่งผู้มีความรู้ด้านเทคโนโลยีในนครนิวยอร์ค มักเลือกทำงานให้กับบริษัทยักษ์ใหญ่ในวงการเทคโนโลยีจากแคลิฟอร์เนีย มากกว่าบริษัทเทคโนโลยีเล็กๆ ในนิวยอร์ค เนื่องจากรายได้และสวัสดิการดีกว่า เห็นได้จากการที่บริษัทเทคโนโลยีใหญ่ๆ เช่น Google Facebook และ Twitter ต่างมีสาขาในนิวยอร์คและมีลูกจ้างรวมเกือบ 4,000 คน ซึ่งมากกว่าครึ่งหนึ่งในนั้นเป็นวิศวกรด้านคอมพิวเตอร์ ทำให้ทรัพยากรบุคคลถูกดึงดูดไปยังบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่เหล่านั้นเป็นจำนวนมาก

และด้วยเหตุนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีจึงเชื่อกันว่า ในที่สุดแล้วมหานครนิวยอร์คอาจจะเหมาะสำหรับการเป็นสถานที่ตั้งของบริษัทเทคโนโลยีรายย่อยที่เพิ่งเริ่มขยายกิจการ หรือเป็นสาขาที่รองรับการทำงานของบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ต่างๆ มากกว่าจะเป็นศูนย์กลางการคิดค้นพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ เหมือนกับที่ Silicon Valley ในแคลิฟอร์เนียเป็นอยู่ในปัจจุบัน

รายงานจาก New York Times / เรียบเรียงโดยทรงพจน์ สุภาผล
XS
SM
MD
LG