ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ผลการศึกษา ชี้ ‘โอมิครอน’ เติบโตเร็วขึ้นในระบบทางเดินหายใจ


Scientists at the Africa Health Research Institute in Durban, South Africa, work on the omicron variant of the COVID-19 virus, Dec. 15, 2021.
Scientists at the Africa Health Research Institute in Durban, South Africa, work on the omicron variant of the COVID-19 virus, Dec. 15, 2021.

นักวิทยาศาสตร์ในฮ่องกงเผย เชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนแบ่งตัวได้รวดเร็วขึ้นมากเมื่อเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ ซึ่งเป็นสาเหตุให้เชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้ระบาดทั่วโลกอย่างรวดเร็ว

รายงานเบื้องต้นของนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮ่องกงระบุว่า การทดลองตัวอย่างเนื้อเยื่อในห้องปฏิบัติการเผยให้เห็นว่า เชื้อไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนเติบโตในหลอดลมปอดเร็วกว่าเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลตาถึง 70 เท่า

แต่ผลการศึกษาดังกล่าวยังพบด้วยว่า เชื้อไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนเติบโตในเนื้อเยื่อปอดช้ากว่าเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ดั้งเดิม 10 เท่า ทำให้ผู้ติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนมีโอกาสแสดงอาการโรคร้ายแรงต่ำกว่า

อย่างไรก็ตาม ไมเคิล ชาน ชี-ไว หัวหน้านักวิจัย เตือนว่า ความรุนแรงของโรคนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับความเร็วในการแบ่งตัวของไวรัสเท่านั้น แต่ยังขึ้นอยู่กับภูมิคุ้มกันของแต่ละคนที่ตอบสนองต่อการติดเชื้อ ซึ่งอาจนำไปสู่การวิวัฒนาการที่ส่งผลให้เกิดอาการเจ็บป่วยหนักจนเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

ดร. ชาน ระบุด้วยว่า การที่เชื้อไวรัสซึ่งมีความสามารถในการติดต่อได้ง่ายเกิดระบาดในกลุ่มคนจำนวนมาก อาจทำให้เกิดโรคร้ายแรงและการเสียชีวิตมากขึ้น แม้ว่าตัวไวรัสเองอาจมีความสามารถทำให้ผู้ติดเชื้อมีอาการป่วยไม่มากก็ตาม

เขากล่าวด้วยว่า ผลการศึกษาล่าสุดแสดงให้เห็นว่า เชื้อไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนสามารถเล็ดรอดภูมิคุ้มกันจากวัคซีนและจากการติดเชื้อครั้งก่อนได้บางส่วน และสรุปว่า เชื้อไวรัสสายพันธุ์นี้อาจกลายเป็นภัยคุกคามครั้งใหญ่ได้

ทั้งนี้ มีการพบเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนแล้วเกือบ 80 ประเทศ นับตั้งแต่ถูกพบครั้งแรกในทวีปแอฟริกาตอนใต้เมื่อเดือนที่แล้ว โดยอินโดนีเซียและนิวซีแลนด์เป็นสองประเทศล่าสุดที่พบผู้ติดเชื้อไวรัสดังกล่าว

ขณะเดียวกัน คณะที่ปรึกษาของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ หรือ ซีดีซี มีกำหนดประชุมในวันพฤหัสบดีเพื่อหารือถึงการจำกัดการฉีดวัคซีนของจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน เนื่องจากผลข้างเคียงต่อเนื่อง

ทั้งนี้ วัคซีนสูตรดังกล่าวถูกเชื่อมโยงกับอาการลิ่มเลือดที่เกิดขึ้นได้น้อยแต่เป็นอาการรุนแรง และมักเกิดขึ้นกับผู้หญิง โดยมีผู้หญิงอย่างน้อยหกคน จากผู้ฉีดวัคซีนสูตรดังกล่าวในสหรัฐฯ 16 ล้านคนที่มีอาการดังกล่าว และมีรายหนึ่งคนเสียชีวิต

มีการพบผู้มีอาการลิ่มเลือดครั้งแรกเมื่อเดือนเมษายน ซึ่งเป็นเวลาไม่นานหลังมีการแจกจ่ายวัคซีนของจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ทั่วสหรัฐฯ ทำให้หน่วยงานสาธารณสุขของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ระงับการฉีดวัคซีนสูตรดังกล่าวเป็นเวลาหลายวันเพื่อทบทวนความปลอดภัย และเพิ่มคำเตือนถึงโอกาสการเกิดลิ่มเลือดบนฉลากของวัคซีนสูตรนี้ ก่อนที่จะสรุปว่า ประโยชน์ของวัคซีนสูตรนี้มีมากกว่าความเสี่ยง

ทั้งนี้ วัคซีนของจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน เป็นที่ต้องการน้อยกว่าวัคซีนของไฟเซอร์และโมเดอร์นาเป็นอย่างมาก

(ข้อมูลบางส่วนจากสำนักข่าวรอยเตอร์)

XS
SM
MD
LG