ปฏิทินที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้ เรียกกันว่า Gregorian Calendar พระสันตปาปา Gregory ที่ 13 เป็นผู้เริ่มต้นนำมาใช้เมื่อ 430 ปีที่แล้ว
ปฏิทินทางเลือกเป็นผลงานของอาจารย์สองคนจากมหาวิทยาลัย Johns Hopkins ในเมืองบัลติมอร์ ซึ่งอยู่ใกล้ๆกรุงวอชิงตัน
ศาสตราจารย์ Richard Henry นักฟิสิคส์ดาราศาสตร์ (astrophysics) บอกว่าที่คิดค้นปฏิทินใหม่ขึ้นมา ก็เพราะในปฏิทินเก่านั้น วันเลื่อนที่ทุกปี ทำให้ต้องเปลี่ยนกำหนดการเรียนการสอน การนัดหมายต่างๆใหม่ทุกปีด้วย
ส่วนศาสตราจารย์ Steve Hanke ซึ่งเป็นนักเศรษฐศาสตร์ บอกว่า ปฏิทินเก่าทำให้การคำนวณยุ่งยากโดยไม่จำเป็น ตัวอย่างเช่น การคำนวณหาดอกเบี้ย เพราะในแต่ละเดือนมีวันไม่เท่ากัน และว่าปฏิทินทางเลือกนี้จะอำนวยความสะดวกให้กับการทำธุรกิจมากขึ้น โดยจะมีเดือนที่มี 30 วันติดต่อกันสองเดือน ตามด้วยเดือนที่มี 31 วันหนึ่งเดือน จะวนเวียนไปเช่นนี้จนครบหนึ่งปี และทุก 5 หรือ 6 ปี จะมีเวลาเพิ่มขึ้นหนึ่งสัปดาห์ เป็นการชดเชยแทนที่จะต้องเพิ่มวัน 1 วันในเดือนกุมภาพันธ์ทุกๆสี่ปีตามปฏิทินเก่า
อาจารย์ทั้งสองคนบอกไว้ด้วยว่า ตามปฏิทินทางเลือกนี้ วันทุกวันจะอยู่คงที่ อย่างในปีนี้ วันก่อนวันขึ้นปีใหม่ตรงกับวันเสาร์ และถ้าเริ่มใช้ปฏิทินทางเลือกในปีหน้านี้แล้ว วันก่อนวันขึ้นปีใหม่ก็จะตรงกับวันเสาร์ตลอดไป
นักวิชาการทั้งสองมีความหวังว่า สักวันหนึ่งจะมีคนสนับสนุนปฏิทินทางเลือกนี้ ศาสตราจารย์ Richard Henry ให้ความเห็นอย่างปลอบใจตนเองว่า เมื่อก่อนนี้ ใครๆก็สูบบุหรี่ได้ทั่วไปทุกแห่ง แต่เดี๋ยวนี้มีการจำกัดสถานที่ที่จะสูบบุหรี่
อาจารย์ผู้นี้อาจจะลืมไปก็ได้ว่า เมื่อกว่า 20 ปีที่แล้ว รัฐบาลสหรัฐออกกฎหมายกำหนดให้สหรัฐใช้มาตราเมตริกทั่วประเทศ แต่จนทุกวันนี้ คนอเมริกันและหน่วยงานรัฐบาลเอง ก็ยังใช้ระบบการชั่ง ตวง วัด แบบเก่าอย่างในอังกฤษอยู่ต่อไป