ลิ้งค์เชื่อมต่อ

นักวิจัยพบว่าเกิดการสูญเสียน้ำใต้ดินปริมาณมหาศาลในตะวันออกกลางขณะที่ภูมิภาคกำลังประสบปัญหาความไม่มั่นคงทางการเมือง


แม่น้ำไทกริสและแม่น้ำยูเฟรติสไหลผ่านซีเรียและอิรักก่อนจะไหลลงอ่าวเปอร์เซีย แต่ต้นน้ำของแม่น้ำสายหลักทั้งสองสายเริ่มต้นที่ทางใต้ของประเทศตุรกีซึ่งเป็นบ้านเกิดของกลุ่มกบฏชาวเคริ์ดในตุรกี ตุรกีใช้ประโยชน์จากแม่น้ำไทกริสและแม่น้ำยูเฟรติสอย่างเต็มที่ ส่งผลกระทบต่อประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ใต้น้ำ ตอนที่เกิดภัยแล้งในตะวันออกกลางเมื่อหลายปีที่แล้ว ผลผลิตการเกษตรในอิรักและซีเรียลดลงอย่างมาก ในขณะที่ตุรกีได้รับผลกระทบจากภัยแล้งน้อยมาก

คุณเคทลิน วอส แห่งมหาวิทยาลัยโคโลราด้ากล่าวกับผู้สื่อข่าววีโอเอว่า ทางการตุรกีได้สร้างเขื่อนมากกว่า 20 แห่งกั้นแม่น้ำไทกริสและเเม่น้ำยูเฟรติสเพื่อส่งเสริมโอกาสทางเศรษฐกิจในพื้นที่ คุณวอสกล่าวว่าตุรกีมีเหตุผลทางการเมืองและทางสังคมของตนเองที่ทำให้ตุรกีต้องการใช้ทรัพยากรน้ำจากแม่น้ำทั้งสองสายนี้ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ คุณวอสเชื่อว่าเขื่อนที่ทางการตุรกีสร้างขึ้นบนแม่น้ำไทกริสและเเม่น้ำยูเฟรติสช่วยลดผลกระทบภัยแล้งต่อภาคเกษตรกรรมของตนแต่ส่งผลกระทบต่อประเทศอื่นๆ

นักวิจัยผู้นี้กล่าวว่าเนื่องจากตุรกียังใช้น้ำจากแม่น้ำทั้งสองสายในปริมาณเท่าเดิมแม้เกิดภาวะภัยแล้งทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำลดปริมาณลงเมื่อไหลผ่านซีเรียและอิรัก ทำให้ทั้งสองประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ใต้น้ำต้องหันไปใช้น้ำจากแหล่งอื่นๆทดแทนนั่นก็คือแหล่งน้ำใต้ดิน

คุณวอสและทีมงานวิจัยได้ใช้ข้อมูลจากดาวเทียมเพื่อศึกษาการใช้น้ำและแหล่งทรัพยากรน้ำที่มีอยู่ในตะวันออกกลาง หลังจากไม่สามารถหาข้อมูลเรื่องนี้ได้ในพื้นที่ และส่วนมากทางการจะถือเป็นข้อมูลความลับของราชการ หลังวิเคราะห์ข้อมูลจากดาวเทียมที่โคจรรอบโลก ทีมงานพบว่าในพื้นที่ตอนบนขอรอบๆลุ่มน้ำแม่น้ำไทกริสและแม่น้ำยูเฟรติสสูญเสียน้ำ ทั้งบนดินและใต้ดินไปแล้วราว 144 ตารางกิโลเมตรในช่วง 7 ปี จากปี พ.ศ 2546 – 2552 เทียบเท่ากับปริมาณน้ำทั้งหมดในทะเลสาป Dead Sea และสองในสามของปริมาณน้ำที่หายไปนี้เป็นน้ำที่สูบขึ้นมาใช้จากใต้ดิน

ทีมนักวิจัยแสดงความกังวลถึงการใช้สูบน้ำใต้ดินปริมาณมหาศาลออกไปใช้ในตะวันออกกลางและเกรงว่าปัญหานี้จะรุนแรงมากขึ้นในอนาคตเนื่องจากภาวะโลกร้อน

คุณวอสกล่าวกับผู้สื่อข่าววีโอเอที่กรุงวอชิงตันว่าตะวันออกกลางน่าจะแห้งเเล้งกว่าเดิม จะเกิดภัยเเล้งบ่อยครั้งขึ้นและแล้งรุนแรงขึ้น สถานการณ์นี้จะเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก นักวิจัยย้ำว่ามีความจำเป็นอย่างมากที่ประเทศในตะวันออกกลางทั้งสามประเทศในลุ่มน้ำไทกริสยูเฟรติสต้องจับเข่าคุยกันเพื่อหาข้อตกลงร่วมกันถึงแผนการใช้น้ำในอนาคต
XS
SM
MD
LG