รายงานเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างชื่อกับความน่าเชื่อถือของเจ้าของชื่อชิ้นนี้จัดทำโดยคณะนักวิจัยที่มหาวิทยาลัย Victoria ในเมือง Wellington นิวซีแลนด์ ซึ่งรวบรวมข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยดังกล่าว โดยให้นักศึกษากลุ่มนั้นอ่านชื่อคนในภาษาต่างๆ 18 ภาษาด้วยกัน จากนั้นให้ข้อมูลต่างๆทั้งจริงและไม่จริง โดยบอกด้วยว่าคนที่มีชื่อในตัวอย่างทั้ง 18 คนเป็นผู้ให้ข้อมูลเหล่านั้น
ผลการทดลองปรากฎว่า นักศึกษาส่วนใหญ่เชื่อว่าข้อมูลของคนที่มีชื่ออ่านง่ายกว่า ได้รับความเชื่อถือมากกว่าอย่างมีนัยสำคัญ
คุณ Eryn Newman หัวหน้าคณะนักวิจัยชุดนี้ชี้ว่า คนที่มีชื่ออ่านง่ายหรือออกเสียงง่ายนั้น มักถูกตัดสินจากชื่อว่าเป็นคนน่าเชื่อถือมากกว่า หรือมีความเสี่ยงและเป็นอันตรายน้อยกว่าคนที่มีชื่อสะกดยากหรือออกเสียงยาก เช่นผู้ที่มีชื่อแบบแอฟริกันว่า Puta Angami ได้รับความน่าเชื่อถือกว่าชื่อ Yevgeni Dzherzhinsky ซึ่งเป็นชื่อทางยุโรปตะวันออกหรือรัสเซีย
อย่างไรก็ดี แต่ละประเทศมีผลการรับรู้เรื่องชื่อนี้แตกต่างกันไป เพราะชื่อที่อ่านยากในภาษาหนึ่งหรือประเทศหนึ่ง อาจกลายเป็นชื่อที่ออกเสียงง่ายในอีกประเทศ ความน่าเชื่อถือของเจ้าของชื่อดังกล่าวจึงต้องพิจารณาปัจจัยอื่นประกอบด้วยว่า ผู้อ่านหรือผู้ออกเสียงนั้นมีภูมิลำเนามาจากประเทศไหน
นักวิจัยเชื่อว่านี่เป็นผลมาจากจิตใต้สำนึกของคนเรา ที่ส่งผลต่อการรับรู้และความเชื่อของแต่ละคน และมิได้มีผลต่อความไว้เนื้อเชื่อใจเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงเรื่องอื่นๆ เช่น โอกาสในการจ้างงาน โอกาสในการได้รับเลือกตั้ง หรือโอกาสในการเลื่อนตำแหน่ง โดยข้อมูลที่รวบรวมไว้ในงานวิจัยชิ้นนี้พบด้วยว่า คนที่มีชื่ออ่านง่ายกว่ามักได้รับการประเมินผลการทำงานดีกว่าคนที่มีชื่ออ่านยาก
ผลการค้นพบเรื่องนี้ ค่อนข้างตรงกับรายงานอีกชิ้นหนึ่งก่อนหน้านี้ที่ตีพิมพ์ในสหรัฐเมื่อปีที่แล้ว ว่าคนต่างด้าวที่เปลี่ยนชื่อให้เหมือนกับชื่อคนอเมริกัน มีโอกาสได้รับการจ้างงานในอเมริกาสูงกว่าคนที่ไม่เปลี่ยนชื่อ นอกจากนี้ยังหมายถึงรายได้ที่สูงกว่าด้วย
รายงานจาก Telegraph และ Yahoo! / เรียบเรียงโดยทรงพจน์ สุภาผล