ลิ้งค์เชื่อมต่อ

การยึดอำนาจในเมียนมาสร้างปัญหาน่าลำบากใจให้ทั้งสหรัฐฯ และจีน


Supporters onboard a car wave national and military flags Tuesday, Feb. 2, 2021, in Yangon, Myanmar. Hundreds of members of Myanmar's Parliament remained confined inside their government housing in the country's capital on Tuesday, a day after the militar
Supporters onboard a car wave national and military flags Tuesday, Feb. 2, 2021, in Yangon, Myanmar. Hundreds of members of Myanmar's Parliament remained confined inside their government housing in the country's capital on Tuesday, a day after the militar
China Myanmar Coup
please wait

No media source currently available

0:00 0:04:39 0:00

ชัยชนะของพรรค NLD จากการเลือกตั้งทั่วไปในเมียนมาเมื่อปลายปีที่แล้วซึ่งสามารถครองที่นั่งได้ถึง 83% สร้างความผิดหวังให้กับกองทัพเมียนมาและพรรคการเมืองที่เป็นตัวแทน และหลังจากที่การเจรจาระหว่างกองทัพเมียนมากับพรรค NLD ที่เป็นรัฐบาลประสบทางตันเมื่อสุดสัปดาห์

การอ้างเรื่องการทุจริตเลือกตั้งก็เป็นเหตุผลที่กองทัพใช้ในการยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือน และนักวิเคราะห์ก็มองว่าการเดินหมากการเมืองของกองทัพเมียนมาครั้งนี้ได้สร้างความลำบากใจให้กับทั้งสหรัฐฯ และจีน

โดยนายยุน ซุน ผู้เชี่ยวชาญด้านจีนซึ่งเป็นผู้อำนวยการโครงการจีนศึกษาของ Stimson Center มองว่าปัญหาหลักเรื่องหนึ่งของเมียนมานั้นมาจากความสัมพันธ์ที่ไม่ลงตัวระหว่างกองทัพกับรัฐบาลพลเรือนและความขัดแย้งนี้ไม่เคยหายไปไหนถึงแม้จะมีกระบวนการประชาธิปไตยเกิดขึ้นในช่วง 10 ปีหลังนี้ก็ตาม

แต่ชัยชนะจากการเลือกตั้งอย่างท่วมท้นของพรรค NLD ทำให้กองทัพเมียนมาไม่มีทางเลือกอื่นที่ดีกว่านี้ นายยุน ซุนยังบอกด้วยว่าไม่มีใครคาดหวังว่าจีนจะเข้ามายุ่งเกี่ยวด้วยการประณามกองทัพหรือแสดงความสนับสนุนต่อพรรค NLD ของนางอองซาน ซูจี และเชื่อว่าจีนต้องการให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องขบแก้ปัญหากันเองอย่างเหมาะสมภายใต้กรอบกฎหมายและรัฐธรรมนูญในขณะที่มีการรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในประเทศเอาไว้

อย่างไรก็ตามผู้เชี่ยวชาญด้านจีนผู้นี้ตั้งข้อสังเกตว่าเมื่อสามสัปดาห์ที่แล้วขณะที่นายหวัง ยี่ รัฐมนตรีต่างประเทศของจีนเดินทางไปเยือนเมียนมานั้นเขาได้แสดงความสนับสนุนอย่างแข็งขันต่อรัฐบาลพลเรือนของเมียนมาและให้คำมั่นว่าจีนต้องการจะร่วมมือกับรัฐบาลสมัยที่สองของพรรค NLD ด้วย แต่การยึดอำนาจโดยกองทัพทำให้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจบางอย่างของจีนได้รับความกระทบกระเทือน เช่นโครงการระเบียงเศรษฐกิจจีน-เมียนมาก็ดูจะมีความไม่แน่นอนมากขึ้นเมื่อเทียบกับเมื่อเดือนที่แล้ว

ผู้อำนวยการโครงการจีนศึกษาของ Stimson Center เชื่อด้วยว่าการก่อรัฐประหารโดยกองทัพหรือความปั่นป่วนทางการเมืองจะเป็นผลให้เมียนมามีความน่าสนใจน้อยลงในแง่การลงทุนและกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ของจีน นอกจากนั้นแล้วความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองของเมียนมายังจะสร้างปัญหาและภาระให้กับจีนที่อาจต้องเข้ามาช่วยปกป้องเมียนมาในเวทีระหว่างประเทศด้วย

ในส่วนของสหรัฐฯ นั้น นายยุน ซุนผู้เชี่ยวชาญเรื่องจีนก็มองว่าปัญหาท้าทายสำคัญที่สุดก็คือท่าทีตอบโต้จากรัฐบาลของประธานาธิบดีไบเดนจะต้องสามารถใช้ได้ผลในแง่ที่ว่าสหรัฐฯ จะสามารถทำอะไรได้เพื่อกดดันกองทัพเมียนมาให้ยอมถอยหลัง เพราะเชื่อได้ว่าผู้นำกองทัพเมียนมาได้คาดการณ์ล่วงหน้าไว้แล้วเกี่ยวกับปฏิกิริยาและผลกระทบจากการยึดอำนาจครั้งนี้แต่ก็ยังตัดสินใจดำเนินการ

และถึงแม้ประธานาธิบดีไบเดนจะประกาศว่าสหรัฐฯ จะมีการดำเนินการที่เหมาะสมเกี่ยวกับเมียนมา แต่ข้อเท็จจริงก็คือเมียนมาในช่วงก่อนการยึดอำนาจนั้นไม่ใช่เรื่องที่มีความสำคัญ ในลำดับต้นๆ ในแง่นโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ หรือแม้กระทั่งสำหรับในเอเชียเองก็ยังมีประเด็นปัญหาอื่นๆ ซึ่งเรียกร้องความสนใจจากประธานาธิบดีไบเดนอยู่อีกมากทีเดียว

คุณยุน ซุนผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียผู้นี้ยังมองว่าปัญหาท้าทายของรัฐบาลสหรัฐฯ ขณะนี้ก็คือหากมีการใช้มาตรการลงโทษเมียนมาอย่างเด็ดขาดและเต็มที่แล้วผู้ปกครองทหารของเมียนมาก็จะไม่มีอะไรที่จะเสียมากกว่านี้และสหรัฐฯ ก็จะขาดอำนาจต่อรอง ดังนั้นเขาจึงเชื่อว่าสิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นคือการใช้มาตรการลงโทษอย่างเป็นขั้นตอนแบบค่อยเป็นค่อยไปเพื่อเปิดทางให้มีการเจรจาทางการทูต

นอกจากนั้นปัญหาน่าลำบากใจอีกอย่างของรัฐบาลสหรัฐฯ ก็คือหากมีการมุ่งเป้ามาตรการลงโทษต่ออุตสาหกรรมบางอย่าง เช่น การเกษตร การส่งออกอัญมณี รวมถึงอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มซึ่งกองทัพเมียนมาได้เก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากธุรกิจเหล่านี้อยู่ คำถามในแง่ศีลธรรมสำหรับวอชิงตันก็คือมาตรการเหล่านี้จะมีขึ้นเพื่อลงโทษผู้นำกองทัพ หรือเป็นการลงโทษประชาชนของเมียนมาในเวลาเดียวกัน

XS
SM
MD
LG