ลิ้งค์เชื่อมต่อ

นักวิจัยอเมริกันพบร่องรอยโรคหลอดเลือดแดงตีบตันในซากมัมมี่อายุสี่พันปี


ทีมนักวิจัยอเมริกันที่มหาวิทยาลัย Missouri-Kansas City ได้ทำการศึกษาวิเคราะห์มัมมี่ทั้งหมด 137 ตัวเพื่อหาร่องรอยของโรคหลอดเลือดแดงอุดตันหรือตีบ

คุณแรนโด้ล ทอมพ์สัน นักวิจัยในทีมงานกล่าวกับผู้สื่อข่าววีโอเอว่าเขาและทีมงานพบว่ามีหลักฐานแน่ชัดที่บ่งบอกว่าอย่างน้อย 1 ใน 3 ของมัมมี่ทั้งหมดในการวิจัยเป็นโรคหลอดเลือดแดงอุดตัน

คุณทอมพ์สันกล่าวว่านี่ทำให้สรุปได้ว่าโรคหลอดเลือดแดงอุดตันเกิดขึ้นตามวัยที่สูงขึ้นของมนุษย์และไม่มีสาเหตุจากลักษณะอาหารและวิถีีชีวิตแบบใดแบบหนึ่งโดยเฉพาะ

มัมมี่ที่ทีมงานทำการศึกษามาจากอียิปต์และเปรูยุคโบราณ มัมมี่บางส่วนมาจากดินแดนที่กลายเป็นรัฐยูท่า สหรัฐอเมริกาในปัจจุบัน และอีกจำนวนหนึ่งมาจากหมู่เกาะ Aleutian นอกฝั่งรัฐอลาสก้า ทั้งหมดเป็นมัมมี่จากหลายพื้นที่ในช่วงระยะเวลาทั้งหมดสี่พันปี มีวิถีชีวิตและลักษณะอาหารการกินแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

โดยทั่วไป เราเชื่อว่าโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดมีสาเหตุเกี่ยวข้องกับวิถีีชีวิตสมัยใหม่ของคนในปัจจุบัน แต่คุณทอมพ์สันชี้ว่าเมื่อทีมงานวิเคราะห์มัมมี่จากหมู่เกาะ Aleutian แล้ว พบหลักฐานว่า มัมมี่ 1 ใน 5 มีร่องรอยเป็นโรคหลอดเลือดแดงอุดตัน ทั้งๆ ที่ในอดีตนั้น มัมมี่เหล่านี้มีวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมคือเป็นนักล่าสัตว์และเก็บของป่ากินเป็นอาหาร

คุณทอมพ์สันกล่าวว่าหนึ่งในมัมมี่ที่ศึกษาเป็นผู้หญิงชาวหมู่เกาะ Aleutian มีร่องรอยว่าเป็นโรคหลอดเลือดแดงอุดตันแบบรุนแรง เหมือนกับที่พบในผู้ป่วยในปัจจุบัน ซึ่งต้องรักษาด้วยการผ่าตัดเพียงวิธีเดียว

โรคหลอดเลือดแดงอุดตันอาจทำให้หัวใจวายได้ แต่อาจจะไม่เสมอไป นักวิจัยอเมริกันกล่าวว่าไม่สามารถยืนยันได้เต็มร้อยว่าโรคหลอดเลือดแดงอุดตันที่พบในซากมัมมี่เป็นสาเหตุให้เสียชีวิตหรือไม่ แต่คุณเอล เเซมมูเอล วานน์ สมาชิกทีมนักวิจัยกล่าวว่ามีบันทึกหลักฐานทางประวัิติศาสตร์ในอียิปต์หลายชิ้นที่บรรยายถึงอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินคล้ายๆ กับอาการหัวใจวาย

คุณวานน์นักวิจัยอเมริกันในทีมงานกล่าวกับผู้สื่อข่าววีโอเอว่านอกจากนี้ยังมีภาพเขียนโบราณในหลุมฝังศพหลายแห่งในอียิป์ เป็นภาพของคนล้มลงอย่างกระทันหัน เอามือกุมที่หน้าอกเอาไว้เหมือนกับว่ากำลังเกิดอาการหัวใจวาย

คุณผู้ฟังสามารถอ่านรายงานผลการศึกษาของทีมนักวิจัยอเมริกัน ที่ชี้ว่าโรคหัวใจมีมาตั้งแต่โบราณและไม่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตสมัยใหม่นี้ได้ในวารสาร The Lancet ที่ตีพิมพ์ไปเมื่อเร็วๆ นี้
XS
SM
MD
LG