ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ทีมนักวิจัยชาวอังกฤษได้ทำการทดลองนอกสถานที่บนภูเขา Everest เพื่อศึกษากระบวนการเกิดโรคเบาหวานประเภทที่สองในผู้ใหญ่


Nepal Everest Avalanche
Nepal Everest Avalanche
ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าภาวะการขาดอ็อกซิเจนในเลือดมีผลให้เกิดเบาหวานประเภทที่สองและเชื่อว่าผลการศึกษานี้จะช่วยพัฒนาวิธีการป้องกัน

ในระดับความสูงกว่า 8,800 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ภูเขา Everest ในเนปาลเป็นภูเขาที่สูงที่สุดในโลก นักปีนเขาต้องใช้อ็อกซิเจนเสริมเพราะปริมาณอ็อกซิเจนในอากาศเบาบางมากในระดับความสูงนี้

อาการขาดอ็อกซิเจนในเลือดเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดอาการเบาหวานประเภทที่สองในผู้ใหญ่ นี่ทำให้ทีมนักวิจัยแห่งโครงการห้องทดลองนอกสถานที่ในภูเขา Everest นี้ต้องการศึกษากระบวนการที่ทำให้ระดับ
อ็อกซิเจนในเลือดต่ำลงจนถึงระดับที่ก่อให้เกิดโรคเบาหวานประเภทที่สองในคนที่ป่วยรุนแรงจากโรคเบาหวาน

ศาสตราจารย์ Mike Grocott ผู้เชี่ยวชาญด้านวิสัญญีและการดูแลผู้ป่วยหนักแห่งมหาวิทยาลัย Southampton ในอังกฤษเป็นหัวหน้าการวิจัยครั้งนี้ การศึกษานี้เริ่มต้นการทดลองที่ Base Camp ซึ่งมีระดับความสูง 5,300 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล

คณะเดินทางปีนเขาในการวิจัยนี้ประกอบด้วยนักปีนเขา 200 คน แต่คุณ Grocott หัวหน้าการวิจัยกล่าวว่าทีมนักวิจัยเน้นศึกษากลุ่มคน 24 คนที่ต้องต้องเข้ารับการตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือด การควบคุมน้ำหนักตัวและการตรวจหาตัวบ่งชี้ทางชีวิภาพ

ทีมวิจัยทำการตรวจร่างกายผู้ป่วยครั้งแรกในสัปดาห์ที่หกและอีกครั้งเมื่อครบสองเดือน หลังจากนั้น มีนักปีนเขาเพียง 8 คนเท่านั้นที่สามารถปีนเขาต่อไปจนถึงยอดเขา

ในสภาพที่อากาศมีปริมาณอ็อกซิเจนเบาบางมาก ศาสตราจารย์ Grocott หัวหน้าทีมนักวิจัยกล่าวว่าระดับอินซูลินในกระเเสเลือดของนักปีนเขาเริ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ยังพบว่าพวกเขามีระดับตัวบ่งชี้ทางชีวภาพสูงขึ้นโดยเเสดงถึงอาการอักเสบและภาวะอ็อกซิเดชั่นที่เกิดความเสียหายในเซลล์

ศาสตราจารย์ Mike Grocott หัวหน้าการวิจัยกล่าวว่าผลการศึกษานี้อาจนำไปสู่การพัฒนาแนวทางบำบัดโรคเบาหวานได้

หัวหน้าการวิจัยกล่าวกับผู้สื่อข่าววีโอเอว่าการควบคุมหรือลดโอกาสของการเกิดโรคเบาหวานน่าจะเป็นวิธีแทรกแซงที่ได้ผลโดยเน้นที่การเกิดภาวะอ็อกซิเดชั่น

ทีมนักวิจัย กล่าวว่าเมื่อนักปีนเขากลับลงมาจากยอดเขา ระดับตัวบ่งชี้ทางชีวภาพได้กลับคืนสู่ระดับปกติ แต่นักปีนเขาในการทดลองหลายคนที่เกิดอาการเบาหวานตอนปีนสู่ยอดเขากลับเริ่มป่วยด้วยอาการนอนหลับไม่สนิทเพราะทางเดินลมหายใจติดขัดโดยในบางครั้งเกิดอาการหายใจติดขัดหลายร้อยครั้งต่อคืน

ศาสตราจารย์ Mike Grocott หัวหน้าการวิจัยกล่าวว่าเมื่อทางเดินลมหายใจติดขัดหลายร้อยครั้งต่อคืน ปริมาณอ็อกซิเจนในเลือดก็จะต่ำลงและนักวิจัยเชื่อว่านี่อาจทำให้เกิดอาการเบาหวานประเภทที่สอง

ศาสตราจารย์ Grocott กล่าวปิดท้ายรายงานจากผู้สื่อข่าววีโอเอว่าทีมนักวิจัยกำลังทำการเปรียบเทียบนักปีนเขาที่ส่วนใหญ่เป็นคนผิวขาวชาวตะวันตกกับคนเนปาลเชื้อสายเผ่า Sherpa เพื่อศึกษาว่าความแตกต่างทางพันธุกรรมของคนท้องถิ่นในเนปาลนี้ช่วยป้องกันพวกเขาไม่ให้เกิดโรคเบาหวานหรือไม่
XS
SM
MD
LG