ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ทีมนักวิจัยพบว่าการกำจัดแหล่งอาหารของยุงช่วยลดจำนวนยุงลง


mosquito
mosquito

ยุงส่วนมากกินน้ำตาลจากพืชเป็นอาหาร ซึ่งค่อนข้างหายากในช่วงฤดูแล้งในแอฟริกาที่มีผู้ป่วยมาลาเรียมากที่สุดหรือ 90 เปอร์เซ็นต์ของทั้งหมดทั่วโลก

ทีมนักวิจัยคิดว่าแหล่งอาหารอย่างหนึ่งของยุงในแอฟริกาอาจมาจากดอกไม้บนต้นไม้ขนาดเล็กชนิดหนึ่ง ที่เรียกว่า 'ต้นเมสกีต' ต้นไม้ชนิดนี้ถูกนำเข้าไปจากเม็กซิโก 40 ปีที่แล้วเพื่อตัดเป็นไม้ฟืนและใช้สร้างฝายกั้นน้ำ แต่ต้นเมสกีตแพร่กระจายอย่างรวดเร็วจนเกินการควบคุม

เพื่อทดสอบแนวความคิดนี้ ทีมนักวิจัยได้เฝ้าติดตามประชากรยุงในหมู่บ้าน 6 แห่งในอำเภอแบนเดียกร้าในประเทศมาลี และหลังจากหนึ่งสัปดาห์ผ่านไป ทีมนักวิจัยได้เด็ดดอกจากต้นเมสกีตครึ่งหนึ่งของหมู่บ้าน

รายงานผลการวิจัยนี้ซึ่งตีพิมพ์ในวารสารมาลาเรีย พบว่าเมื่อมีแหล่งอาหารน้อยลงในหมู่บ้าน ยุงมีชีวิตอยู่ได้สั้นลง และจำนวนประชากรยุงลดลง 69 เปอร์เซ็นต์ แต่ไม่ได้หมายความว่ามียุงน้อยลงเท่านั้น แต่ยังมียุงที่อายุมากน้อยลงด้วย

ทีมนักวิจัยบอกว่านี่เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะเชื้อไวรัสมาลาเรียต้องใช้เวลา 12 วันที่จะเข้าไปในต่อมน้ำลายของยุงเพื่อแพร่เชื้อสู่คนที่ยุงกัด ดังนั้นหากยุงตายลงเร็วขึ้นแม้แต่สองสามวัน ก็จะช่วยลดจำนวนยุงที่พร้อมจะแพร่เชื้อมาลาเรียลงได้อย่างมาก

กันเตอร์ มูลเล่อร์ หัวหน้าผู้ร่างรายงานผลการศึกษาจากภาควิชาการแพทย์ฮาดาสซา มหาวิทยาลัยฮิบบรู กล่าวว่า การค้นพบนี้ชี้ว่าการกำจัดดอกของต้นเมสกีต อาจเป็นวิธีใหม่ในการลดการแพร่ระบาดของเชื้อมาลาเรียในพื้นที่ลงได้

เเต่การกำจัดต้นเมสกีตทำได้ยากกว่าที่คิด คนในพื้นที่เคยพยายามควบคุมต้นไม้ชนิดนี้มาก่อน เพราะกลายเป็นวัชพืชที่คุกคามพื้นที่ทำกิน กีดขวางทางเข้าพื้นที่ทำกิน และสามารถเติบโตในพื้นที่แห้งแล้งได้ดีเพราะใช้น้ำน้อย

การกำจัดดอกของต้นเมสกีตก็เป็นปัญหาเช่นกัน เนื่องจากต้นไม้นี้มีหนามยาวถึง 10 เซนติเมตรตลอดตามแนวกิ่งก้าน

ดอน เวสสัน นักชีววิทยาแห่งภาควิชาการสาธารณสุขและเวชศาสตร์เขตร้อนมหาวิทยาลัยทูเลน กล่าวว่า เธอไม่เคยเห็นวิธีควบคุมยุงด้วยการกำจัดแหล่งอาหารมาก่อน

เวสสันกล่าวว่าผลการวิจัยนี้น่าตื่นเต้น เพราะแสดงให้เห็นว่าสามารถช่วยลดจำนวนประชากรยุงลงได้ แต่ได้เตือนว่าการกำจัดต้นเมสกีตอาจส่งผลเสียก็ได้ เพราะเมื่อยุงไม่มีแหล่งอาหาร ก็จะยิ่งหันมาดูดเลือดคนท้องถิ่นบ่อยขึ้น ทำให้เกิดการแพร่ระบาดของมาลาเรียมากขึ้น

แต่เธอหวังว่าไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น และเห็นว่าควรมีการวิจัยต่อไป โดยนอกจากจะวัดดูผลกระทบของการกำจัดต้นเมสกีตต่อการลดลงของประชากรยุงแล้ว แต่ควรศึกษาดูด้วยว่าช่วยลดการติดเชื้อมาลาเรียลงได้หรือไม่

(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)


XS
SM
MD
LG