ลิ้งค์เชื่อมต่อ

มหาวิทยาลัยในฮ่องกงย้ายผลงานศิลปะรำลึกเหตุการณ์สังหารหมู่เทียนอันเหมิน


FILE - A worker from the Hong Kong Alliance in Support of Patriotic Democratic Movements in China prepares the Goddess of Democracy statue at Hong Kong's Victoria Park on June 4, 2010.
FILE - A worker from the Hong Kong Alliance in Support of Patriotic Democratic Movements in China prepares the Goddess of Democracy statue at Hong Kong's Victoria Park on June 4, 2010.

เมื่อวันศุกร์ มหาวิทยาลัยในฮ่องกงอีกสองแห่งเคลื่อนย้ายงานศิลปะที่รำลึกถึงเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่จัตุรัสเทียนอันเหมินในกรุงปักกิ่งเมื่อปีค.ศ. 1989

รูปปั้น “เทพีแห่งประชาธิปไตย” (Goddess of Democracy) ถูกเคลื่อนย้ายออกจากพื้นที่ของมหาวิทยาลัยจีนแห่งฮ่องกงในช่วงก่อนเช้าตรู่ รูปปั้นรูปหญิงชูคบเพลิงนี้ เป็นผลงานของเฉิน เว่ยหมิง จิตรกรชาวนิวซีแลนด์ ซึ่งจำลองจากรูปปั้นดั้งเดิมที่ทำจากเปเปอร์มาเช่ ที่ถูกจัดแสดงระหว่างการประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน

ทางมหาวิทยาลัยระบุในแถลงการณ์ว่า รูปปั้นดังกล่าวถูกจัดแสดงโดยไม่ได้รับอนุญาต และมหาวิทยาลัยเคลื่อนย้ายรูปปั้นดังกล่าวออกไปหลังมีการประเมินเป็นการภายในแล้ว

ในวันเดียวกัน ประติมากรรมที่สื่อถึงเหตุการณ์สังหารหมู่ที่จัตุรัสเทียนอันเหมินก็หายไปจากกำแพงของมหาวิทยาลัยหลิงหนานเช่นกัน

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันพฤหัสบดี มหาวิทยาลัยแห่งฮ่องกงแยกชิ้นส่วนและเคลื่อนย้ายรูปปั้นที่รำลึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าวออกจากบริเวณมหาวิทยาลัย หลังรูปปั้นดังกล่าวถูกจัดแสดงมากว่า 20 ปี โดยทางมหาวิทยาลัยระบุว่า รูปปั้นดังกล่าวถูกจัดเก็บในห้องเก็บของ

FILE - A flower is put in the barrel of a tank in a relief depicting the pro-democracy movement in Beijing, at Hong Kong's Victoria Park on June 4, 2010.
FILE - A flower is put in the barrel of a tank in a relief depicting the pro-democracy movement in Beijing, at Hong Kong's Victoria Park on June 4, 2010.

สภามหาวิทยาลัยแห่งฮ่องกงระบุในแถลงการณ์ว่า ทางสภาตัดสินใจเคลื่อนย้ายรูปปั้นนี้ในวันพุธ โดยพิจารณาจาก “ข้อแนะนำทางกฎหมายจากภายนอก และการประเมินความเสี่ยงเพื่อผลประโยชน์สูงสุดของมหาวิทยาลัย”

ผลงานศิลปะรูปร่างกายมนุษย์บิดเบี้ยวนี้ เป็นหนึ่งในอนุสรณ์สถานไม่กี่แห่งในฮ่องกงที่มีขึ้นเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์นองเลือดดังกล่าว ซึ่งเป็นประเด็นต้องห้ามในจีนแผ่นดินใหญ่ และไม่สามารถจัดงานรำลึกถึงเหตุการณ์ในจีนได้

รูปปั้น “เสาหลักแห่งความอัปยศ” (Pillar of Shame) นี้ เป็นสัญลักษณ์ของเสรีภาพของฮ่องกง เมื่ออังกฤษส่งมอบฮ่องกงคืนให้จีนเมื่อปีค.ศ. 1997

เจนส์ กาลชิออท ศิลปินเจ้าของผลงานชิ้นนี้ บอกกับวีโอเอว่า เขาได้ลองเจรจากับทางการฮ่องกงเพื่อนำผลงานดังกล่าวออกจากมหาวิทยาลัยโดยไม่ต้องถูกถอดชิ้นส่วน เพื่อนำกลับไปยังเดนมาร์ก ซึ่งเป็นประเทศบ้านเกิดของเขา แต่ทางการฮ่องกงกลับไม่สนใจคำขอของเขา

ศิลปินผู้นี้ระบุว่า การกระทำครั้งนี้ “โหดร้าย” และเป็นการ “ทำลายศิลปะ” เขายังกล่าวด้วยว่า “ฮ่องกงเหมือนจีนเข้าไปทุกขณะ”

ทั้งนี้ จีนไม่เคยเปิดเผยถึงเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่จัตุรัสเทียนอันเหมินเมื่อปีค.ศ. 1989 อย่างละเอียด โดยทางการจีนระบุว่า มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าวราว 300 คน แต่กลุ่มสิทธิมนุษยชนและพยานระบุว่า อาจมีผู้เสียชีวิตถึงหลายพันคน

ทางการฮ่องกงบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งเป็นกฎหมายของจีนแผ่นดินใหญ่ โดยนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่า เป็นกฎหมายที่ใช้เพื่อกดขี่กลุ่มประชาสังคม จำคุกนักรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย และจำกัดเสรีภาพพื้นฐาน

ทางการฮ่องกงระบุว่า กฎหมายดังกล่าวทำให้ฮ่องกงกลับมามีระเบียบและมั่นคงหลังการประท้วงครั้งใหญ่เมื่อปีค.ศ. 2019 และย้ำว่า กฎหมายนี้ไม่กระทบต่อเสรีภาพในการพูดและสิทธิอื่นๆ และการดำเนินคดีต่างๆ ไม่ได้เป็นเรื่องทางการเมือง

XS
SM
MD
LG