คณะนักวิจัยของมหาวิทยาลัย McGill ที่นครมอนทรีลของแคนาดา ซึ่งนำโดยอาจารย์ Moshe Ben-Shosan ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคภูมิแพ้และคณะได้ศึกษาครัวเรือนแคนาดากว่า 10,000 ครัวเรือนซึ่งประกอบด้วยผู้ที่มีการศึกษาตั้งแต่ระดับต่ำจนถึงระดับปริญญาตรีขึ้นไปและพบว่า ครอบครัวที่มีสมาชิกซึ่งได้รับการศึกษาอย่างน้อยระดับปริญญาตรีขึ้นไปจะมีโอกาสมากกว่าถึงสองเท่า เมื่อเทียบกับครอบครัวที่ได้การศึกษาระดับต่ำที่จะรายงานเรื่องการแพ้อาหารบางชนิด อย่างไรก็ตามการศึกษาของนักวิจัยไม่ได้อธิบายถึงเหตุผลของเรื่องนี้ เพียงแต่ตั้งข้อสังเกตเรื่องความสัมพันธ์เกี่ยวโยงเท่านั้น
นักวิจัยชี้ว่าระดับการศึกษาโดยตัวเองนั้นไม่ได้ทำให้เกิดการแพ้อาหารแต่เป็นตัวช่วยบ่งชี้ เพราะผู้ที่มีการศึกษาสูงมักจะมีโอกาสมากกว่าที่จะไปพบและรับบริการทางการแพทย์ ทำให้มีความเป็นไปได้มากกว่าที่จะทราบและรายงานเรื่องอาการแพ้เนื่องจากอาหาร ส่วนอีกทฤษฎีหนึ่งที่อาจอธิบายเรื่องนี้ได้เรียกว่า Hygiene Hypothesis หรือสมมติฐานเกี่ยวกับสุขอนามัย ซึ่งกล่าวว่าผู้ที่อยู่ในครอบครัวที่ไม่แออัดหรือในสภาพแวดล้อมที่สะอาดกว่าและมีโอกาสใช้ยาปฏิชีวนะหรือได้รับวัคซีนป้องกันโรคต่างๆ เป็นประจำนั้นมักมีโอกาสได้รับเชื้อโรคต่างๆ น้อยกว่า ทำให้ระบบภูมิต้านทานของร่างกายไม่ค่อยได้ทำงาน แต่ในทางกลับกันระบบภูมิต้านทานนี้มักจะมีปฏิกิริยาตอบโต้มากเกินไปเมื่อถูกกระตุ้นด้วยอาหารบางประเภท
ตามสถิติของศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคของสหรัฐฯ นั้น ในช่วงปี 2540-2550 มีรายงานการแพ้อาหารเพิ่มขึ้น 18 % ในกลุ่มเยาวชนสหรัฐฯ ซึ่งอายุต่ำกว่า 18 ปี และในปัจจุบันนี้มีเด็กอเมริกันราว 4-8 % ที่แพ้อาหารบางประเภท โดยทั่วไปแล้วถั่วต่างๆ โดยเฉพาะถั่วลิสง ปลา และสัตว์ทะเลที่มีเปลือก เช่นกุ้ง หอย และปู มักทำให้เกิดอาการแพ้อย่างรุนแรงได้ ส่วนไข่ นม ถั่วเหลือง และข้าวสาลีเป็นอาหารโดยทั่วไปที่มักเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ขึ้นได้เช่นกัน