ลิ้งค์เชื่อมต่อ

วิจัยพบ ‘การเจริญสติ’ ช่วยบำบัด ‘ภาวะวิตกกังวล’ ได้ใกล้เคียงกับการใช้ยา


Anxiety-Mindfulness
Anxiety-Mindfulness

ในปัจจุบันที่ผู้คนเริ่มป่วยด้วยภาวะความวิตกกังวลมากขึ้น ทำให้นักวิทยาศาสตร์พยายามศึกษาหนทางการรักษาและบำบัดทางเลือกนอกเหนือจากการใช้ยารักษา ล่าสุด ทีมวิจัยอเมริกันเผยการค้นพบว่าการเจริญสติอาจช่วยบำบัดภาวะนี้ได้ใกล้เคียงกับการใช้ยารักษา

นักวิจัยได้ศึกษาแบบเปรียบเทียบตัวต่อตัวเป็นครั้งแรกระหว่างการทำสมาธิเจริญสติกับการบำบัดด้วยยารักษา และพบว่า การเจริญสติช่วยรักษาอาการวิตกกังวลได้เช่นเดียวกับยาสามัญที่ใช้ในการรักษาอาการของโรคนี้

การศึกษานี้ได้ทดสอบโปรแกรมการทำสมาธิที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย ซึ่งรวมถึงชั้นเรียนที่ใช้เวลาสองชั่วโมงครึ่งต่อสัปดาห์ และการฝึกปฏิบัติวันละ 45 นาทีที่บ้าน โดยผู้เข้าร่วมการศึกษาจะได้รับการสุ่มให้เข้าร่วมโปรแกรมหรือการใช้ยาสามัญที่ขายภายใต้ชื่อแบรนด์ Lexapro เป็นประจำทุกวันสำหรับภาวะซึมเศร้าและความวิตกกังวล

หลังจากที่ผ่านไปสองเดือน ความวิตกกังวลที่วัดได้ในระดับที่รุนแรงลดลงประมาณ 30% ในทั้งสองกลุ่ม และยังคงลดลงต่อไปอีกในช่วงสี่เดือนต่อมา

ผลการศึกษาดังกล่าวตีพิมพ์อยู่ในวารสาร JAMA Psychiatry ฉบับเมื่อไม่นานมานี้

เมื่อเดือนกันยายน หน่วยงานด้านสุขภาพของสหรัฐฯ ได้แนะนำให้มีการตรวจหาอาการของความวิตกกังวลเป็นประจำสำหรับผู้ใหญ่ และรายงานหลาย ๆ ฉบับยังชี้ว่า จำนวนผู้ป่วยภาวะวิตกกังวลทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเร็วไม่นานมานี้ ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับความกังวลเกี่ยวกับโรคระบาด ความไม่สงบทางการเมืองและเชื้อชาติ การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ และความไม่แน่นอนทางด้านการเงิน

อาการของโรควิตกกังวลนั้นรวมไปถึงความวิตกกังวลทางสังคม ความวิตกกังวลทั่วไป และอาการตื่นตระหนก สำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจะมีปัญหาจากความกังวลอย่างต่อเนื่องซึ่งรบกวนชีวิตและความสัมพันธ์ในรูปแบบต่าง ๆ ของพวกเขา ในสหรัฐฯ อาการวิตกกังวลส่งผลกระทบต่อผู้หญิง 40% ในช่วงหนึ่งของชีวิต และมากกว่า 1 ใน 4 ของผู้ชาย ตามข้อมูลการตรวจสอบของ U.S. Preventive Services Task Force

ทั้งนี้ การเจริญสติเป็นการทำสมาธิรูปแบบหนึ่งที่เน้นเฉพาะสิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนั้นและละทิ้งความคิดที่รบกวนจิตใจ ในการฝึกแต่ละครั้งมักจะเริ่มต้นด้วยการฝึกหายใจ ต่อไปอาจเป็น “การสแกนร่างกาย” หรือการนึกถึงแต่ละส่วนของร่างกายอย่างเป็นระบบตั้งแต่หัวจรดเท้า เมื่อมีความวิตกกังวลแทรกเข้ามา ผู้ฝึกสมาธิจะเรียนรู้ที่จะรับรู้ความวิตกกังวลนั้นเพียงชั่วครู่ จากนั้นก็ขจัดทิ้งไป

เอลิซาเบธ โฮจ์ (Elizabeth Hoge) ผู้อำนวยการโครงการ Anxiety Disorders Research Program ที่ Georgetown University กล่าวว่า การศึกษาครั้งก่อนหน้านี้แสดงให้เห็นว่าการทำสมาธิได้ผลดีกว่าการที่ไม่ได้รับการรักษา หรืออย่างน้อยก็พอ ๆ กับการศึกษาหรือการบำบัดพฤติกรรมในการลดความวิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า และปัญหาทางจิตอื่น ๆ แต่นี่เป็นการศึกษาครั้งแรกที่ทำการทดสอบโดยการเปรียบเทียบกับยารักษาอาการทางจิตเวช และผลที่ได้อาจทำให้บริษัทประกันสุขภาพยอมจ่ายค่ารักษานี้ ซึ่งจะอยู่ที่ 300-500 ดอลลาร์สำหรับการรักษา 8 สัปดาห์

ผลของการศึกษานี้มาจากผู้ใหญ่ประมาณ 200 คนที่เสร็จสิ้นการศึกษาเป็นเวลาหกเดือนที่ศูนย์การแพทย์ในวอชิงตัน บอสตัน และนิวยอร์ก นักวิจัยใช้มาตราส่วนทางจิตเวช 1 ถึง 7 โดยตัวเลขสูงสุดแสดงถึงความวิตกกังวลอย่างรุนแรง คะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 4.5 สำหรับผู้เข้าร่วมการศึกษาก่อนเริ่มการรักษา จากนั้นลดลงเหลือประมาณ 3 หลังจากรักษาได้สองเดือน จากนั้นก็ลดลงเล็กอีกน้อยในทั้งสองกลุ่มเมื่อรักษาได้สามเดือนและหกเดือน โดย โฮจ์กล่าวว่า ผลของการศึกษาชี้ให้เห็นว่า ผู้ที่เข้าร่วมการศึกษามีอาการดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

นักจิตวิทยา ชีแฮน ฟิชเชอร์ (Sheehan Fisher) รองศาสตราจารย์จาก Feinberg School of Medicine แห่งมหาวิทยาลัย Northwestern University ซึ่งไม่ได้มีส่วนร่วมในการศึกษานี้กล่าวว่า การศึกษานี้ “เป็นการยืนยันอีกครั้งว่าการฝึกสติมีประโยชน์อย่างไรหากฝึกอย่างมีประสิทธิภาพ”

ทางด้านนายแพทย์ สก็อตต์ คราคูเวอร์ (Dr. Scott Krakower) จิตแพทย์แห่งโรงพยาบาล Zucker Hillside ในนิวยอร์กกล่าวว่า การบำบัดด้วยการเจริญสติมักจะได้ผลดีที่สุดสำหรับผู้ป่วยที่มีความวิตกกังวลเล็กน้อย เขามักจะสั่งยาให้กับผู้ป่วยที่มีความวิตกกังวลในขั้นรุนแรง

เขาตั้งข้อสังเกตด้วยว่าหลาย ๆ คนมักรู้สึกว่า ไม่มีเวลาสำหรับการทำสมาธิ โดยเฉพาะการฝึกแบบตัวต่อตัวอย่างเช่นในการศึกษานี้ แต่สำหรับการฝึกสมาธิเจริญสติแบบออนไลน์ หรือฝึกจิตผ่านแอปพลิเคชันในโทรศัพท์มือถือจะให้ผลลัพธ์ที่เหมือนกันหรือไม่นั้น ยังไม่มีการศึกษาในเรื่องนี้

  • ที่มา : เอพี
XS
SM
MD
LG