ลิ้งค์เชื่อมต่อ

รมต. ประเทศลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่างร่วมการประชุมประจำปีของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงวันพฤหัสบดีนี้ที่ลาว คาดว่าเขื่อนไซยะบุรีจะเป็นประเด็นสำคัญ


รมต. กระทรวงสิ่งแวดล้อมจากกัมพูชา ลาว ประเทศไทย และเวียตนาม อยู่ที่นครหลวงพระบาง สำหรับการประชุมประจำปีของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekhong River Commission เรียกย่อๆว่า MRC) ในวันพฤหัสบดีนี้ และคาดว่าประเด็นเรื่องเขื่อนไซยะบุรีจะเป็นเรื่องสำคัญในการประชุมครั้งนี้

เขื่อนของลาวในจังหวัดไซยะบุรีแห่งนี้ เมื่อสร้างเสร็จจะเป็นเขื่อนกั้นน้ำผลิตไฟฟ้าเขื่อนแรกในลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง และนักพิทักษ์สิ่งแวดล้อมวิตกว่า เขื่อนนี้จะทำความเสียหายให้กับแม่น้ำและผู้คนนับล้านๆที่ตั้งบ้านเรือนและอาศัยแม่น้ำโขงในการดำรงชีวิต

ในการประชุมของ MRC ครั้งสุดท้าย กัมพูชาและเวียตนามได้ขอร้องให้ระงับการก่อสร้างเพื่อรอผลการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมก่อน แต่ลาวกลับเดินหน้าการก่อสร้างต่อไป และลงนามในข้อตกลงขายกระแสไฟฟ้ากับประเทศไทย

สุรศักดิ์ กล้าหาญ โฆษกของ MRC กล่าวว่า นับตั้งแต่การประชุมครั้งนั้นเป็นต้นมา กัมพูชาและเวียตนามมิได้หยิบยกประเด็นนี้ขึ้นพูดกับ MRC เลย

ทางลาวกล่าวว่า การออกแบบเขื่อนได้ปรับปรุงการเดินทางให้กับปลาและการตกตะกอน แต่ยังมิได้เผยแพร่แผนปรับปรุงดังกล่าวให้เป็นที่ทราบ

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่า ทั้งกัมพูชาและเวียตนามจะยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่ว่านั้น และเข้าใจกันว่าการก่อสร้างเขื่อนจะดำเนินต่อไป แม้ผลการศึกษาเรื่องนี้ของ MRC จะเสนอแนะให้ระงับการสร้างเขื่อนไว้เป็นเวลาสิบปี

Aviva Imhof ผอ. การรณรงค์ของกลุ่มสิ่งแวดล้อม International Rivers บอกว่า การที่ไม่มีใครให้ความสนใจต่อข้อเสนอแนะของ MRC ทำให้ต้องตั้งคำถามว่า MRC มีน้ำหนักอย่างไร หรือไม่

นักพิทักษ์แม่น้ำผู้นี้ กล่าวว่า MRC ควรจะวิตกกังวลในเรื่องความมุ่งหมายและความเชื่อมั่นขององค์กร เพราะงานของ MRC คือการเจรจาและการรับประกันว่า จะมีการพัฒนาและบริหารการใช้แม่น้ำอย่างเป็นธรรมและสมดุล และดูเหมือนว่า ประเทศหนึ่งจะดำเนินการโดยไม่ทำตามกระบวนการที่ตกลงกันไว้

ลาวมีแผนจะสร้างเขื่อนขึ้นอีกหลายแห่งในแม่น้ำโขง เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายของประเทศที่ตั้งไว้ว่าจะเป็น “แบตเตอรี่ของเอเชีย”

ในขณะที่การปลูกข้าวของเวียตนามและแหล่งโปรทีนสำคัญของกัมพูชาผูกพันอยู่กับแม่น้ำสายนี้ ส่วนนักพิทักษ์สิ่งแวดล้อมประมาณว่า การส้รางเขื่อนอาจทำลายพันธุ์ปลาอย่างน้อย 20 ชนิด รวมทั้งปลาบึก

แต่ลาว ซึ่งเป็นประเทศยากจน กล่าวว่า การขายไฟให้ประเทศเพื่อนบ้าน เป็นการแก้ปัญหาความยากจนของตน

นักพิทักษ์สิ่งแวดล้อมให้ความเห็นว่า ปัญหาสำคัญในเรื่องการสร้างเขื่อนคือจะไม่เห็นผลกระทบต่อแม่น้ำจนกว่าจะสร้างเขื่อนเสร็จ และจีนเป็นประเทศเดียวที่สร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าในแม่น้ำโขงตอนบน และถูกวิพากษ์ตำหนิที่ไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลให้ประเทศอื่นๆที่อยู่ในแม่น้ำโขงตอนล่างได้รับรู้ด้วย

Ed Grumbine ผู้เชี่ยวชาญทางด้านความหลากหลายทางชีวภาพของสถาบันพฤกษศาสตร์คุนหมิงของจีนบอกว่า ดูเหมือนว่าประเทศในแม่น้ำโขงตอนล่างจะทำตามอย่างจีน โดยไม่คำนึงถึงผลที่จะตามมา

ผู้เชี่ยวชาญคนนี้บอกว่า ข้อมูลเท่าที่มีแสดงให้เห็นว่า จะมีผลกระทบอย่างสำคัญจากเขื่อนผลิตไฟฟ้าของจีนโดยรัฐบาลจีนไม่เห็นด้วยกับผลการสำรวจที่ว่านี้ แต่จะว่าไปแล้ว จีนก็ไม่ได้สนใจจะให้ความร่วมมือกับประเทศในลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่างแต่อย่างใด

Ed Grumbine ผู้เชี่ยวชาญทางด้านความหลากหลายทางชีวภาพ บอกส่งท้ายว่า บรรดาประเทศในลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง อาจจะหาทางปรับปรุงการใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดความต้องการ และพัฒนาพลังงานทางเลือกขึ้นมาใช้แทนที่จะดีกว่าการสร้างเขื่อน
XS
SM
MD
LG