ลิ้งค์เชื่อมต่อ

มีการพยายามผลิตเนื้อเทียมเพื่อเลี้ยงประชากรโลกที่กำลังเพิ่มขึ้น


มีการพยายามผลิตเนื้อเทียมเพื่อเลี้ยงประชากรโลกที่กำลังเพิ่มขึ้น
มีการพยายามผลิตเนื้อเทียมเพื่อเลี้ยงประชากรโลกที่กำลังเพิ่มขึ้น

การวิจัยใหม่ที่ศึกษาเรื่องการผลิตอาหารสำหรับประชากรโลกที่กำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ บ่งชี้ว่า อีกไม่ช้า เนื้อเทียมอาจเข้ามาแทนที่เนื้อจากปศุสัตว์ในการบริโภคอาหารของคนเรา

รายงานการวิจัยของนักวิทยาศาสตร์อังกฤษที่ออกเผยแพร่ในวันจันทร์ ระบุว่า ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับปศุสัตว์กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว แต่ในประเทศกำลังนั้น ปศุสัตว์ยังคงเป็นส่วนสำคัญยิ่งยวดของชีวิต รายงานการศึกษาวิจัยของศาสตราจารย์ Philip Thornton แห่งมหาวิทยาลัยเอดินเบอระ (University of Edinburgh) ระบุว่า ภายในปี 2593 หรืออีก 40 ปีข้างหน้า ความต้องการปศุสัตว์จะเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว เนื่องจากจำนวนประชากรกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และเขตเมืองใหญ่ขยายตัว และคนมีรายได้มากขึ้น

คนในประเทศกำลังพัฒนาที่อาศัยปศุสัตว์ในการยังชีพ อาจได้ประโยชน์จากการที่ความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์เพิ่มขึ้น แต่การทำให้การผลิตเนื้อสัตว์กลายเป็นอุตสาหกรรมขึ้นมา อาจก่อปัญหายากลำบากสำหรับคนที่มีอาชีพเลี้ยงปศุสัตว์ยากจนได้เช่นกัน

ศาสตราจารย์ Philip Thornton กล่าวว่า อันตรายอย่างหนึ่ง คือการที่คนเลี้ยงปศุสัตว์ยากจนจะถูกกดดันให้หมดอาชีพ และไม่ได้ประโยชน์จากการที่ความต้องการเนื้อสัตว์เพิ่มขึ้น

ในช่วงเวลา 22 ปีตั้งแต่ปี 2523 ถึงปี 2545 นั้น ความต้องการเนื้อสัตว์ในประเทศกำลังพัฒนาเพิ่มขึ้น 3 เท่าจาก 45 ล้านตันเป็น 134 ล้านตัน ขณะที่การผลิตและการบริโภคเนื้อสัตว์ในประเทศพัฒนากลับค่อย ๆ ลดลง

อาจารย์ Philip Thornton กล่าวว่า ปศุสัตว์กำลังมีบทบาทสำคัญในประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศ ซึ่งไม่ใช่เพียงเป็นช่องทางหารายได้เท่านั้น แต่ยังเป็นความสัมพันธ์เกี่ยวโยงทางสังคมและวัฒนธรรมด้วย เขายกตัวอย่างว่า ในหลายส่วนของแอฟริกา มีการใช้ปศุสัตว์เป็นเครื่องวัดความสำคัญทางสังคม หรือใช้เป็นของขวัญในการสร้างสัมพันธภาพ เขากล่าวว่า เรื่องนี้มีความสำคัญต่อชีวิตความเป็นอยู่ของบางชุมชน ขณะที่การผลิตและการบริโภคเนื้อสัตว์กำลังเปลี่ยนไป

นักวิจัยคาดกันว่า ภายในปี 2593 หรืออีก 40 ปีข้างหน้า โลกจะมีประชากรราว 9,000 ล้านคน ขณะที่มีพื้นที่และน้ำจำกัดในการผลิตอาหารสำหรับประชากรโลก

ศาสตราจารย์ Philip Thornton กล่าวว่า ขณะนี้กำลังมีการทำงานวิจัยมากมายเกี่ยวกับแนวความคิดเรื่องการผลิตเนื้อเทียมเพื่อเลี้ยงประชากรโลก ซึ่งมีการพยายามผลิตเนื้อเทียมในห้องทดลองหรือในโรงงาน โดยที่ไม่เกี่ยวของกับสัตว์เลย ซึ่งเรื่องนี้จะมีผลต่อปศุสัตว์ทั้งในประเทศกำลังพัฒนาและประเทศพัฒนา

การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศก็อาจมีผลกระทบสำคัญด้วย และอาจจำเป็นต้องมีเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในการจัดการกับผลกระทบที่ความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศจะมีต่อการเลี้ยงปศุสัตว์และการผลิตเนื้อสัตว์

วงจรลูกโซ่การผลิตอาหารจากปศุสัตว์นั้น ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกราว 20 % ของทั้งหมดที่คนก่อให้เกิดขึ้น และคาดว่าจะมีแรงกดดันมากขึ้นเรื่อย ๆ ให้มีการควบคุมการก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก

นักวิจัยบางคนหวังว่า ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมจะไม่บดบังความสำคัญของการเลี้ยงปศุสัตว์เพื่อการยังชีพในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งปศุสัตว์เป็นแหล่งรายได้ เป็นแหล่งอาหาร และเป็นส่วนสำคัญของชีวิตประจำวัน

Dr. Carlos Sere ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยปศุสัตว์ระหว่างประเทศในกรุงไนโรบี ประเทศเคนยา กล่าวว่า ปศุสัตว์เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับคนยากจน หากมีการกดดันให้คนยากจนต้องเลิกเลี้ยงปศุสัตว์โดยที่ไม่ทางเลือกอื่นในการยังชีพ ก็จะก่อให้เกิดปัญหาทางสังคมขึ้นได้ เช่น อาจมีการโยกย้ายถิ่นฐาน ไปหางานทำในประเทศอื่น เป็นต้น

ระบบการเลี้ยงปศุสัตว์นั้น คลุมพื้นที่ราว 30 % ของพื้นที่ที่ไม่มีน้ำข็งปกคลุมของโลก และมีมูลค่าทางการเงินราว 1 ล้าน 4 แสนล้านดอลล่าร์

รายงานของศาสตราจารย์ Philip Thornton เกี่ยวกับการผลิตและการบริโภคเนื้อสัตว์นี้ เป็นส่วนหนึ่งของรายงานชุดนี้ทั้งหมด 21 ฉบับ ที่สมาคม Royal Society ของอังกฤษนำออกเผยแพร่

XS
SM
MD
LG