ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ทีมนักวิจัยสหรัฐค้นพบจุดอ่อนของเชื้อมาลาเรีย


ทีมนักวิจัยสหรัฐค้นพบจุดอ่อนของเชื้อมาลาเรีย
ทีมนักวิจัยสหรัฐค้นพบจุดอ่อนของเชื้อมาลาเรีย

นักวิจัยชาวสหรัฐเปิดเผยผลการศึกษาเมื่อเร็วๆนี้ว่าได้ค้นพบจุดอ่อนของเชื้อมาลาเรียและเชื่อว่าจะช่วยนำทางไปสู่การพัฒนายารักษาและวัคซีนป้องกันโรคแต่การพัฒนายาและวัคซีนคงต้องใช้เวลาอีกหลายปี

เชื้อมาลาเรีย หรือ พลาสโมเดี่ยม จะมีชีวิตอยู่ได้ ต้องอาศัยสารเคมีที่เรียกกันว่า ไอพีพี นะคะ เหมือนกับมนุษย์และสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย แต่คุณเอลเล็น เยท นักวิจัยที่มหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ด สหรัฐอเมริกา บอกว่า เชื้อพลาสโมเดี่ยม มีวิธีผลิตสารไอพีพีไม่เหมือนกับมนุษย์ โดยผลิตขึ้นในโครงสร้างที่เรียกว่า เอ-พิ-โค-พลาสท์

คุณเอลเล็น เยท กล่าวว่า โครงสร้างที่ว่านี้เป็นโครงสร้างทางเซลในตัวเชื้อโรคพลาสโมเดี่ยมของมาลาเรีย ซึ่งำม่มีในมนุษย์และเมื่อโครงสร้างนี้เป็นโครงสร้างเฉพาะของเชื้อมาลาเรีย การรักษาโรคนี้ต้องมียาที่ผลิตขึ้นมาจัดการกับโครงสร้างเซลเชื้อพลาสโมเดี่ยมโดยเฉพาะ และยาที่ว่าจะไม่มีผลข้างเคียงต่อตัวผู้ป่วยที่ทานยาเลย

นักวิจัยเรื่องนี้เชื่อว่า การค้นพบโครงสร้างเซลเฉพาะตัวของเชื้อมาลาเรียจะช่วยนำทางให้นักวิทยาศาสตร์หาทางรักษาโรคมาลาเรียที่ปลอดภัยมากขึ้น

ในการทดลองนักวิจัยใช้ยาปฏิชีวนะในการยุติการทำงานของเอ-พิ-โค-พลาสท์ หรือ โครงสร้างเซลเชื้อมาลาเรีย

คุณเอลเล็น เยท นักวิจัยบอกว่า ในการทดลองทั่วไป เชื้อมาลาเรียจะถูกกำจัดให้ตาย แต่ในการวิจัยของเธอและทีมงาน มีการพยุงชีวิตของเชื้อมาลาเรียเอาไว้โดยให้สารไอพีพีเป็นอาหารเสริมแก่ตัวเชื้อ ปรากฏว่าตัวเชื้อมาลาเรียในการทดลองมีชีวิตอยู่ต่อแต่อ่อนแอจนไม่สามารถก่อโรคได้

ผลการทดลองทำให้นักวิจัยสรุปว่า โครงสร้างเอพิโคพลาสท์ น่าจะเป็นจุดอ่อนของเชื้อมาลาเรียและโครงสร้างนี้มีหน้าที่หลักคือการสร้างสารไอพีพีไปเลี้ยงเชื้อมาลาเรียให้มีชีวิตนั่นเอง

คุณเอลเลน เยท บอกว่า ผลการศึกษาวิจัยของทีมงานนี้อาจจะช่วยให้บริษัทผู้ผลิตยา คิดค้นยารักษาโรคมาลาเรียที่ไม่มีผลข้างเคียงต่อร่ายกายมนุษย์ และน่าจะเป็นประโยชน์ต่อการคิดค้นวัคซีนขึ้นมาป้องกันมาลาเรียในอนาคตด้วย

คุณเอลเล็น เยท บอกว่าการคิดค้นยาอาจจะใช้เวลาน้อยกว่าการคิดค้นวัคซีนเพราะวัคซีนต้องการทดสอบมากกว่า แต่ว่ากว่าจะไปถึงจุดนั้นอาจจะต้องใช้เวลาอีก 10 ถึง 15 ปีก็ได้ แต่เธอบอกว่า ผลการศึกษานี้แม้จะไม่นำไปสู่การผลิตยาหรือวัคซีนขึ้นมาทันที แต่ก็นำวงการแพทย์ให้ก้าวหน้าไปอีกก้าวหนึ่งในการหาทางรักษาและป้องกันมาลาเรีย

XS
SM
MD
LG