ลิ้งค์เชื่อมต่อ

นักวิจัยพบว่าเด็กที่มียีนผิดปกติชนิดหนึ่งมีโอกาสเกิดภาวะมาลาเรียขึ้นสมองลดลง 30%


นักวิจัยพบว่าเด็กที่มียีนผิดปกติชนิดหนึ่งมีโอกาสเกิดภาวะมาลาเรียขึ้นสมองลดลง 30%
นักวิจัยพบว่าเด็กที่มียีนผิดปกติชนิดหนึ่งมีโอกาสเกิดภาวะมาลาเรียขึ้นสมองลดลง 30%

นักวิจัยพบว่าเด็กที่มียีนผิดปกติชนิดหนึ่งมีโอกาสเกิดภาวะมาลาเรียขึ้นสมองลดลง 30% ซึ่งการค้นพบนี้อาจนำไปสู่การพัฒนาวัคซีนโรคมาลาเรียได้

ภาวะมาลาเรียขึ้นสมองจะทำให้ผู้ป่วยไข้ขึ้นสูงและเกิดอาการช็อคหมดสติซึ่งถือเป็นอาการขั้นรุนแรงที่สุดของโรคมาลาเรียก็ว่าได้ ประมาณกันว่าราว 20-50% ของผู้ป่วยที่สมองติดเชื้อมาลาเรียจะเสียชีวิตในเวลาต่อมา ผู้เชี่ยวชาญระบุว่าในแต่ละปีมีผู้ได้รับเชื้อมาลาเรียทั่วโลกเกือบ 300 ล้านคน ในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 1 ล้านคนซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 5 ขวบ

คณะนักวิจัยที่สถาบันการแพทย์เขตร้อน Bernhard Nocht ในเยอรมันนีและที่มหาวิทยาลัย Kumasi ในกาน่าศึกษากลุ่มตัวอย่างเด็กมากกว่า 6 พันคน พบว่าเด็กที่มียีนผิดปกติชนิดหนึ่งเรียกว่ายีน FAS จะมีความเสี่ยงของการเกิดภาวะมาลาเรียขึ้นสมองลดลงราว 30% เทียบกับเด็กที่ไม่มียีนดังกล่าว นักวิจัยชี้ว่ายีน FAS ที่ว่านี้มีหน้าที่ควบคุมโมเลกุลที่เกี่ยวโยงกับการสลายตัวของเซลล์เม็ดเลือดขาวบางชนิดซึ่งเป็นเซลล์ของระบบภูมิคุ้มกันที่คอยโจมตีหรือทำลายเชื้อโรคที่บุกรุกเข้าสู่ร่างกาย

คุณ Kathrin Schuldt นักชีววิทยาผู้ร่วมจัดทำรายงานวิจัยชิ้นนี้ตั้งสมมติฐานว่าเด็กที่มีอาการมาลาเรียขึ้นสมองนั้นเป็นเพราะระบบภูมิคุ้มกันตอบสนองต่อเชื้อโรคมากเกินไป เมื่อถูกยุงกัดบ่อยๆภูมิคุ้มกันในร่างกายจึงโต้ตอบในระดับสูงอย่างต่อเนื่องเพื่อกำจัดเชื้อโรคเหล่านั้น แต่นักวิจัยผู้นี้ชี้ว่าสำหรับเด็กที่มียีนผิดปกติ FAS นั้นจะมีโมเลกุลที่เรียกว่า CD95 เพิ่มขึ้นซึ่งทำให้เซลล์เม็ดเลือดขาวสลายตัวไปเองเป็นจำนวนมาก จึงลดความรุนแรงของการตอบสนองต่อเชื้อโรค ช่วยให้มีเซลล์ภูมิคุ้มกันบางส่วนเหลือรอดจากการโจมตีเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกาย

คุณ Schuldt ระบุว่าเด็กที่มียีนผิดปกติดังกล่าวซึ่งเกิดขึ้นเองตามธรรมชาตินี้ จึงเปรียบเสมือนมีตัวควบคุมไม่ให้เซลล์ภูมิคุ้มกันตอบสนองต่อเชื้อโรคในแต่ละครั้งมากเกินไปแต่ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ซึ่งกลายเป็นเหมือนเกราะป้องกันภาวะมาลาเรียขึ้นสมองได้ในที่สุด นักวิจัยผู้นี้อธิบายว่าโดยปกติแล้วร่างกายมนุษย์จะไม่สร้างภูมิคุ้มกันโรคมาลาเรียอย่างเต็มที่ในเวลาอันสั้น แต่จะค่อยๆพัฒนามาเรื่อยๆเมื่อถูกยุงกัดบ่อยขึ้นๆ นั่นคือเหตุผลว่าทำไมผู้ใหญ่จึงเจ็บป่วยจากโรคมาลาเรียน้อยกว่าเด็กเล็กๆ

คุณ Schuldt ระบุว่าสิ่งที่นักวิจัยต้องค้นคว้าต่อไปคือกระบวนการสร้างเกราะป้องกันภาวะมาลาเรียขึ้นสมองของยีนผิดปกติที่ว่านั้น ซึ่งอาจนำไปสู่การคิดค้นยาหรือวัคซีนป้องกันโรคมาลาเรียได้ในที่สุด

สำหรับรายงานเรื่องนี้ตีพิมพ์อยู่ในวารสารออนไลน์ PLoS Genetics

XS
SM
MD
LG