ลิ้งค์เชื่อมต่อ

การศึกษาชี้ ยาต้านอาการซึมเศร้าราคาประหยัดอาจลดความเสี่ยงเข้าโรงพยาบาลเพราะโควิดได้


Virus Outbreak-Reinfection
Virus Outbreak-Reinfection
Antidepressant Reduced Covid 19 Risk
please wait

No media source currently available

0:00 0:02:57 0:00

ในช่วงที่ภาวะการระบาดของโควิด-19 ยังเป็นวิกฤตที่คนทั่วโลกยังพยายามหาทางรับมือและใช้ชีวิตอยู่ด้วยให้ได้ การศึกษาล่าสุดเปิดเผยว่า ยารักษาสุขภาพจิตที่มีอยู่ในตลาดตัวหนึ่ง อาจช่วยลดความเสี่ยงของผู้ติดเชื้อโคโรนาไวรัสในที่จะต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลได้

การศึกษาครั้งใหม่พบว่ายาต้านอาการซึมเศร้าราคาถูกช่วยลดความจำเป็นในการรักษาตัวในโรงพยาบาลของผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีความเสี่ยงสูงได้

ยาดังกล่าวมีชื่อว่าฟลูโวซามีน (Fluvoxamine) ซึ่งมักใช้รักษาภาวะสุขภาพจิต เช่น ภาวะซึมเศร้า และโรคย้ำคิดย้ำทำ

นักวิจัยตัดสินใจทดสอบประสิทธิผลของยาที่มีต่ออาการของโควิด-19 เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีว่า ยานี้ช่วยลดการอักเสบได้ ปัญหาสุขภาพมากมายที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 ล้วนเกิดจากภาวะอักเสบในร่างกายเนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันตอบสนองต่อการติดเชื้อมากเกินไป

นอกจากนี้ การวิจัยอย่างต่อเนื่องยังได้ทดสอบยาชนิดอื่นๆ ที่มีอยู่เพื่อดูว่าสามารถรักษาโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยหรือไม่

เมื่อไม่นานมานี้ นักวิจัยได้ศึกษาชาวบราซิลเกือบ 1,500 คนที่ติดเชื้อโคโรนาไวรัสซึ่งเป็นสาเหตุของโควิด-19 โดยคนเหล่านี้มีความเสี่ยงต่ออาการเจ็บป่วยที่ร้ายแรง เนื่องจากมีปัญหาสุขภาพอื่นๆ และนักวิจัยให้ผู้ป่วยครึ่งหนึ่งใช้ยาฟลูโวซามีนที่บ้านเป็นเวลา 10 วัน ส่วนที่เหลือใช้ Placebo หรือยาหลอก และติดตามดูผลการรักษาของยาเป็นเวลาสี่สัปดาห์

นักวิจัยพบว่า 11 เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่ใช้ยาฟลูโวซามีนต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลหรืออยู่ในห้องฉุกเฉินเป็นเวลานาน เทียบกับผู้ที่ได้รับยาหลอกซึ่งมีอัตรานี้ 16 เปอร์เซ็นต์

อย่างไรก็ดี ยาต้านอาการซึมเศร้ามีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าการรักษาโควิด-19 แบบอื่นๆ โดยการรักษาด้วยการให้แอนติบอดีทางเส้นเลือดมีราคาประมาณ 2,000 ดอลลาร์ และยาทดลองต้านไวรัสสำหรับโควิด-19 ที่พัฒนาโดยบริษัท เมอร์ค (Merck) มีค่าใช้จ่ายราว 700 ดอลลาร์ต่อหนึ่งชุด

นักวิจัยได้ให้ข้อมูลผลการศึกษานี้แก่สถาบัน U.S. National Institutes of Health ซึ่งเผยแพร่แนวทางการรักษา และหวังว่าจะได้รับคำแนะนำให้ใช้ยานี้ได้จากองค์การอนามัยโลก (WHO) ด้วย

หัวหน้าการศึกษานี้กล่าวว่า ยาดังกล่าวอาจช่วยป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรงหรือการเสียชีวิตในประเทศยากจนที่ไม่มีวัคซีนป้องกันโควิด-19 ได้ในราคาที่ไม่แพง

ดร. เอ็ดเวิร์ด มิลส์ (Dr. Edward Mills) แห่งมหาวิทยาลัยแม็คมาสเตอร์ (McMaster University) ที่เมืองออนแทรีโอ ประเทศแคนาดา หัวหน้าการศึกษาวิจัยนี้บอกกับผู้สื่อข่าว เอพี ว่า หากองค์การอนามัยโลกมีคำแนะนำให้ใช้ยาฟลูโวซามีน ก็จะเป็นผลให้มีการนำไปใช้อย่างกว้างขวาง และว่ายานี้มีใช้อยู่แล้วในหลายๆ ประเทศที่ยากจน ซึ่งหวังว่าจะนำไปสู่การช่วยชีวิตผู้คนได้มากมาย

ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์บางคนกล่าวด้วยว่า เชื่อว่าน่าจะมีการผสมผสานวิธีรักษารูปแบบต่างๆ มาใช้ร่วมกันเพื่อต่อสู้กับโควิด-19 ในอนาคต

ดร.พอล แซ็กส์ (Dr. Paul Sax) แห่ง Harvard Medical School และโรงพยาบาล Brigham and Women's Hospital ที่เมืองบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ ซึ่งไม่ได้มีส่วนร่วมในการศึกษานี้บอกกับ เอพี ว่า ยาฟลูโวซามีนและยาโควิด-19 ของ เมอร์ค มีลักษณะการทำงานแตกต่างกัน แต่อาจจะใช้เสริมกันได้

อย่างไรก็ตาม คำถามมากมายยังคงมีอยู่เกี่ยวกับปริมาณของยาต้านอาการซึมเศร้าที่ควรจะใช้ โดย นักวิจัยมีแผนจะศึกษาว่า ยาฟลูโวซามีนสามารถช่วยผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่ำได้ด้วยหรือไม่ และควรให้ยานี้ร่วมกับการรักษาด้วยวิธีอื่นๆ หรือไม่

ขณะนี้มีโครงการศึกษาซึ่งใหญ่กว่าที่ศึกษายา 8 ชนิดที่มีอยู่ เพื่อดูว่าจะสามารถใช้ต้านโคโรนาไวรัสได้หรือไม่ และตอนนี้ โครงการดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการทดสอบยารักษาตับอักเสบ แต่ยาอื่นๆ รวมทั้งเมตฟอร์มิน ไฮดรอกซีคลอโรควิน และไอเวอร์เม็กติน ไม่ได้แสดงผลลัพธ์ที่ดี

รายงานผลการศึกษาดังกล่าวตีพิมพ์อยู่ในวารสาร Lancet Global Health ฉบับเมื่อเร็วๆ นี้

(ที่มา: The Associated Press)

XS
SM
MD
LG