ลิ้งค์เชื่อมต่อ

หนึ่งปีหลังภัยพิบัติ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวญี่ปุ่นยังคงอ่อนแอ


หนึ่งปีหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวและคลื่นสึมามิถล่มญี่ปุ่น อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของญี่ปุ่นยังคงไม่สามารถฟื้นตัวได้ เนื่องจากชาวญี่ปุ่นจำนวนมากยังคงเศร้าใจต่อภัยพิบัติที่เกิดขึ้นและยังไว้อาลัยต่อผู้เสียชีวิตด้วยการอยู่เงียบๆภายในบ้าน ขณะที่นักท่องเที่ยวต่างชาติยังคงหวาดกลัวกัมมันตภาพรังสีรั่วไหล

เมืองนากาโน่คือสถานที่พักตากอากาศยอดนิยมของญี่ปุ่นซึ่งมีกีฬาสกีและลิงหิมะเป็นจุดขาย และยังเคยเป็นสถานที่จัดการแข่งขันสกีในกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวเมื่อ 40 กว่าปีก่อน แต่จำนวนนักท่องเที่ยวในช่วงฤดูหนาวที่เมืองนากาโน่ปีนี้ลดลงอย่างน่าใจหายเมื่อเปรียบเทียบกับตัวเลขนักท่องเที่ยว 3 แสนคนต่อปีก่อนที่จะเกิดภัยพิบัติเมื่อเดือนมีนาคมปีที่แล้ว


คุณนิชิมูระ ฮิโรชิ ผช.ผอ.ด้านการท่องเที่ยวระหว่างประเทศที่เมืองนากาโน่เล่าว่า ช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมาการท่องเที่ยวในเมืองตากอากาศที่เต็มไปด้วยเนินสกีที่มีชื่อเสียงแห่งนี้หดตัวลงถึง 80% โรงแรมปิดตัวไปแล้วอย่างน้อย 15 แห่ง ซึ่งความซบเซาของการท่องเที่ยวมิได้เกิดขึ้นเฉพาะที่เมืองนากาโน่เท่านั้นแต่ทั่วประเทศญี่ปุ่นต่างเผชิญปัญหาแบบเดียวกัน นักท่องเที่ยวต่างชาติไม่มาญี่ปุ่นเพราะกลัวกัมมันตภาพรังสี ซึ่งในสายตาชาวต่างชาตินั้นเมืองนากาโน่กับเมืองฟุกุชิม่าดูไม่ไกลกันสักเท่าไร

รัฐบาลญี่ปุ่นพยายามให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยวในเมืองนากาโน่ด้วยการจัดหาเงินกู้และสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพราะต่างเชื่อว่าการท่องเที่ยวคือปัจจัยสำคัญที่จะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของญี่ปุ่นได้ อย่างไรก็ตาม ในขณะที่เศรษฐกิจโลกยังคงผันผวน นักลงทุนพากันเปลี่ยนมาถือเงินเยนส่งผลให้ค่าเงินเยนสูงขึ้น ซึ่งหมายความว่าค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวญี่ปุ่นสำหรับชาวต่างชาติก็สูงขึ้นด้วยเช่นกัน และถึงแม้รัฐบาลญี่ปุ่นกำลังจะมีมาตรการต่างๆออกมาเพื่อจูงใจนักท่องเที่ยวต่างชาติเช่นการให้ตั๋วเครื่องบินฟรี 10,000 ใบ แต่ก็ดูเหมือนจะถูกต่อต้านด้วยเหตุผลว่าประเทศกำลังต้องการเงินทุนเพื่อฟื้นฟูบูรณะในส่วนอื่นๆ

ในส่วนของการท่องเที่ยวภายในประเทศก็จะพบว่าหดตัวลงมากไม่แพ้กัน คุณนิชิมูระ ฮิโรชิ ชี้ว่าเป็นเพราะตั้งแต่ภัยพิบัติครั้งใหญ่เมื่อปีที่แล้ว ชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่ต่างมีแนวโน้มใช้ชีวิตสงบสำรวมมากขึ้น ต่างเก็บตัวอยู่กับบ้าน ไม่ออกไปเที่ยว ไม่รื่นเริงสนุกสนาน นัยหนึ่งเพื่อแสดงความเคารพต่อผู้เสียชีวิตหลายหมื่นคน

ศาสตราจารย์วิลเลี่ยม เฮลตั้น นักจิตวิทยาที่มหาวิทยาลัยแคนเทอร์บิวรี่ในนิวซีแลนด์ชี้ว่า ความเครียดหรือความซึมเศร้าหรือความรู้สึกผิดหลังหายนะครั้งใหญ่นั้นเป็นเรื่องปกติและต้องอาศัยเวลาเป็นเครื่องเยียวยาความซึมเศร้าลักษณะนี้เกิดขึ้นเช่นกันหลังแผ่นดินไหวที่เมือง Christchurch ในนิวซีแลนด์เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งเป็นเรื่องที่คนที่อาศัยอยู่นอกเขตที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวอาจไม่มีวันเข้าใจ

นั่นคือเหตุผลว่าทำไมชาวญี่ปุ่นจึงยังไม่หลุดพ้นจากความเศร้าโศกเสียใจแม้เวลาผ่านมาครบหนึ่งปีแล้วก็ตาม

XS
SM
MD
LG