ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ญี่ปุ่นเปิดแผนติดเขี้ยวเล็บทางกลาโหม ครั้งใหญ่ที่สุดตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง


Japan's Prime Minister Fumio Kishida attends a press conference in Tokyo, Japan, on Dec. 16, 2022.
Japan's Prime Minister Fumio Kishida attends a press conference in Tokyo, Japan, on Dec. 16, 2022.

ญี่ปุ่นเปิดเผยในวันศุกร์ว่าได้เตรียมแผนเสริมความแข็งแกร่งทางทหารครั้งใหญ่ที่สุดตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง โดยตั้งงบประมาณไว้ที่ 3 แสน 2 หมื่นล้านดอลลาร์ ตามรายงานของรอยเตอร์

ภายใต้แผนดังกล่าว ซึ่งเกิดขึ้นท่ามกลางความกังวลเรื่องสงครามทั้งจากในภูมิภาคเอเชียและการรุกรานยูเครนโดยรัสเซีย ญี่ปุ่นจะซื้อขีปนาวุธที่สามารถยิงไปถึงจีน และเตรียมพร้อมหาเกิดความขัดแย้งที่กินเวลายืดเยื้อ

แผนเพิ่มความเข็งแกร่งทางทหารที่จะกินเวลา 5 ปีนี้ ที่จะทำให้ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่จัดงบประมาณกลาโหมมูลค่าสูงสุดอันดับสามของโลก มีนัยสำคัญตรงที่ตามประวัติศาสตร์หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ญี่ปุ่นมีนโยบายไม่ฝักใฝ่การใช้สงครามในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง

ประเทศที่ใช้งบประมาณด้านกลาโหมมากที่สุดสองอันดับแรกคือสหรัฐฯ ตามมาด้วยจีน

นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ฟูมิโอะ คิชิดะ กล่าวว่าประเทศญี่ปุ่นและชาวแดนอาทิตย์อุทัย กำลังอยู่ ณ จุดเปลี่ยนของประวัติศาสตร์ เขากล่าวว่าแผนเพิ่มศักยภาพทางทหารนี้ “คือคำตอบของข้าพเจ้าต่อสิ่งท้าทายมากมายด้านความมั่นคงที่เรากำลังเผชิญอยู่”

รัฐบาลของคิชิดะ กังวลว่า รัสเซียกำลังสร้างตัวอย่างที่อาจเกิดขึ้นซ้ำ เช่น การที่จีนอาจรุกรานไต้หวัน ซึ่งกรณีดังกล่าวจะเป็นภัยคุกคามต่อเกาะในญี่ปุ่นและสายการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ของโลก และระบบข่นส่งน้ำมันจากตะวันออกกลางมายังภูมิภาคนี้ของโลก

Japan Air Self-Defense Force's F-15 and F-2 fighters hold a joint military drill with U.S. Marine Aircraft Group's F-35B fighters off Japan's southernmost main island of Kyushu, Japan
Japan Air Self-Defense Force's F-15 and F-2 fighters hold a joint military drill with U.S. Marine Aircraft Group's F-35B fighters off Japan's southernmost main island of Kyushu, Japan

เอกสารที่ระบุยุทธศาสตร์ทางกลาโหมของญี่ปุ่นในครั้งนี้ระบุว่า “การรุกรานยูเครนของรัสเซียเป็นการละเมิดกฎหมายที่ห้ามกำลังอย่างร้ายแรง และสั่นสะเทือนฐานรากของระเบียบระหว่างประเทศ”

“ความท้าทายทางยุทธศาสตร์ที่มาจากจีน เป็นความท้าทายที่สำคัญที่สุดต่อญี่ปุ่น” เอกสารฉบับดังกล่าวระบุ และชี้ด้วยว่า รัฐบาลจีนมีโอกาสใช้กำลังทหารเพื่อให้ไต้หวันเข้ามาอยู่ใต้การควบคุมด้วยวิธีบังคับ"

ในเอกสารด้านยุทธศาสตร์กลาโหมอีกฉบับหนึ่งของญี่ปุ่น ระบุถึงจีน รัสเซีย และเกาหลีเหนือ และว่าญี่ปุ่นจะประสานงานอย่างใกล้ชิดกับสหรัฐฯ และชาติที่มีมุมมองเดียวกัน เพื่อป้องปรามภัยคุกคามต่าง ๆ

เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำญี่ปุ่น ราห์ม เอ็มมานูเอล กล่าวในแถลงการณ์ว่า “นายกรัฐมนตรี (คิชิดะ) แสดงให้เห็นในสารที่ส่งออกมา อย่างกระจ่างถึงบทบาทของญี่ปุ่นในฐานะผู้สร้างความมั่นคงให้กับภูมิภาคอินโดแปซิฟิก”

ส่วนประธานาธิบดีไต้หวัน ไช่ อิงเหวิน กล่าวขณะหารือกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของญี่ปุ่น ว่าเธอคาดหวังที่จะมีความร่วมมือทางกลาโหมมากขึ้นกับญี่ปุ่น

ขณะนี้จีนมีงบประมาณทางทหารคิดเป็นสี่เท่าของญี่ปุ่น หลังจากที่ใช้จ่ายด้านอาวุธยุทโธปกรณ์มากกว่าญี่ปุ่นตั้งแต่เข้าสู่ศตวรรษที่ 21

ในการเพิ่มศักยภาพทางทหารของญี่ปุ่น รัฐบาลจะจัดสรรงบคิดเป็นร้อยละ 2 ของขนาดเศรษฐกิจของประเทศในช่วง 5 ปีจากนี้ โดยเดิมทีญี่ปุ่นจำกัดงบการทหารของตนเองอยู่ที่ร้อยละ 1 ของขนาดเศรษฐกิจมากตั้งแต่ 46 ปีก่อน

นอกจากขีปนาวุธแล้วญี่ปุ่นต้องการเพิ่มจำนวนอะไหล่ต่างๆ และอาวุธประเภทระเบิด กระสุนและปืน ไปจนถึงโดรนสอดแนม อุปกรณ์ที่ใช้สื่อสารผ่านดาวเทียม เรือดำน้ำ เรือรบ เครื่องบินรบล่องหน เอฟ-35 ของบริษัทล็อคฮีดมาร์ติน และเครื่องบินขนส่งขนาดใหญ่

  • ที่มา: รอยเตอร์
XS
SM
MD
LG