ลิ้งค์เชื่อมต่อ

การประชุม CITES ที่กรุงเทพฯอาจห้ามการค้าสัตว์ป่าใน 19 ประเทศถ้าไม่ปราบปรามการลอบฆ่า ลักลอบค้า หรือขายงาช้างผิดกฎหมาย


เรื่องการลักลอบค้างาช้างและนอแรด เป็นประเด็นสำคัญอันหนึ่งของที่ประชุมเรื่องอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ หรือ CITES ซึ่งกำลังดำเนินอยู่ที่กรุงเทพฯในขณะนี้

มาตรการหนึ่งที่ที่ประชุมอาจนำมาใช้ คือห้ามการค้าสัตว์ป่าใน 19 ประเทศ ถ้าประเทศเหล่านี้ ซึ่งรวมทั้งประเทศไทย ไม่ปราบปรามการลอบฆ่า การลักลอบค้า หรือการขายงาช้างผิดกฎหมาย

Will Travers จากกลุ่มอนุรักษ์สัตว์ป่า Born Free บอกว่า ในปี ค.ศ. 2007 มีแรดถูกสังหารอย่างผิดกฎหมาย 13 ตัว ในปีที่แล้วเพิ่มเป็น 668 ตัว และในปีนี้ที่ถูกฆ่าแล้ว 130 ตัว ไม่เพียงแต่จำนวนแรดที่ถูกฆ่าเพิ่มขึ้น จำนวนช้างป่าที่ถูกฆ่าอย่างผิดกฎหมายก็เพิ่มขึ้นด้วย และแม้หลายประเทศจะมีกฎหมายห้ามการลอบฆ่าช้างเพื่อเอางามาขาย แต่ประเทศเหล่านี้ รวมทั้งประเทศไทยและจีน อนุญาตให้มีการค้าขายงาช้างและผลิตภัณฑ์จากงาช้างภายในประเทศได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

ปัญหาก็คือการควบคุมตรวจสอบว่า งาช้างและผลิตภัณฑ์งาช้างที่ขายนั้นมาจากช้างภายในประเทศอย่างถูกต้องตามกฎหมายจริง ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำได้ยากมาก เพราะไม่มีระบบการขึ้นทะเบียนช้างเพื่อป้องกันการปลอมแปลงเอกสารกำกับงาช้างจากงาช้างป่ามาเป็นงาช้างภายในประเทศ

นักรณรงค์ต่อต้านบอกไว้ด้วยว่า ข้อตกลงห้ามการค้างาช้างระหว่างประเทศที่ทำกันไว้ในปี ค.ศ. 1989 นั้น ไม่ได้ผล เพราะไม่มีเขี้ยวเล็บ

อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีของไทยได้กล่าวไว้ เนื่องจากการประชุมของ CITES ครั้งนี้ว่า จะให้มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายไทยในเรื่องนี้

Steve Njumbi ผู้บริหารโครงการอนุรักษ์สัตว์ป่าของ International Fund for Animal Welfare ในประเทศเคนยา บอกว่า ในหมู่ผู้ที่ต้องการงาช้างหรือผลิตภัณฑ์งาช้าง มีความเข้าใจผิดคิดว่างาช้างหลุดหล่นมาจากช้าง เหมือนกับเส้นผมที่ร่วงหล่นมาจากศีรษะ และขอส่งข้อความถึงผู้คนในประเทศจีนและประเทศไทยว่า การจะได้งาช้างมานั้น ช้างต้องตายอย่างโหดร้ายทารุณมาก

และ Charlotte Davies ของ Environmental Investigation Agency หรือ EIA ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ในกรุงลอนดอน ประมาณว่า มีช้างถูกฆ่าเพื่อเอางามากกว่าสามหมื่นตัวต่อปี โดยเป็นช้างในแอฟริกาเป็นจำนวนมาก ตัวเลขของ EIA ระบุไว้ด้วยว่า 90% ของงาช้างที่ค้าขายอยู่ในประเทศจีนเป็นงาช้างผิดกฎหมาย

Charlotte Davies ของ EIA กล่าวว่า ที่ EIA กำลังเสนอแนะต่อที่ประชุม CITES ก็คือห้ามการค้างาช้างและผลิตภัณฑ์งาช้างทั้งหมด ผู้คนจะได้เข้าใจได้อย่างถูกต้องว่า ไม่มีงาช้างที่ถูกต้องตามกฎหมายให้ซื้อขายได้ เพราะเป็นภัยต่อช้างที่ยังมีชีวิตอยู่ทุกตัว

ผู้ที่รณรงค์เพื่ออนุรักษ์ช้างเหล่านี้ มีคำเตือนไว้ด้วยว่า มีความเป็นไปได้อย่างจริงจังที่ช้างจะสูญพันธุ์ ถ้าไม่มีการห้ามค้างาช้างและผลิตภัณฑ์งาช้างทั่วโลก
XS
SM
MD
LG