ลิ้งค์เชื่อมต่อ

โจทย์ในไทย-กำลังใจจากต่างชาติ กรณี ‘กม.สมรสเท่าเทียม’


ผู้เข้าร่วมงานไพรด์ พาเหรด กิจกรรมรณรงค์ความหลากหลายเท่าเทียมทางเพศ ที่กรุงเทพมหานคร วันที่ 1 มิถุนายน 2567 (ที่มา: AP)
ผู้เข้าร่วมงานไพรด์ พาเหรด กิจกรรมรณรงค์ความหลากหลายเท่าเทียมทางเพศ ที่กรุงเทพมหานคร วันที่ 1 มิถุนายน 2567 (ที่มา: AP)

ไทยกำลังเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่จะพิจารณารับรองการสมรสระหว่างบุคคลเพศเดียวกัน ซึ่งในโมงยามที่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อเช่นนี้ ก็มีทั้งความเห็นจากในประเทศถึงโจทย์ที่ต้องไปต่อ รวมถึงสายตาของชุมชนความหลากหลายทางเพศในภูมิภาคที่ติดตามเรื่องนี้ด้วยความหวัง

กลางเดือนมิถุนายนนี้ วุฒิสภาไทยมีนัดหมายการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า 'ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม' หลังรับร่างฯ มาจากสภาผู้แทนราษฎรที่ลงมติรับรองไปแล้วเมื่อปลายเดือนมีนาคมปีนี้

แม้ว่าหลักการสำคัญของกฎหมาย จะเป็นการแก้ไขถ้อยคำนิยามการสมรสในกฎหมายแพ่ง จากการเป็นนิติกรรมระหว่างเพศชายและเพศหญิง ให้เป็นนิติกรรมระหว่าง “บุคคล” เพื่อทำลายกำแพงทางเพศ แต่ในทางรายละเอียดก็ยังคงมีการบ้านที่ต้องทำอีกหลายประเด็น

มัจฉา พรอินทร์ นักรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชนและการสมรสเท่าเทียม และผู้หญิงที่ติด 1 ใน 100 อันดับของ BBC Women 2023 กล่าวว่า หากกฎหมายสมรสเท่าเทียมได้รับการรับรองแล้ว ก็ยังต้องดูว่าการบังคับใช้จริงจะต้องไปแก้ไขข้อบังคับอื่น ๆ ที่เดิมทีถูกออกแบบมาเพื่อคู่รักต่างเพศอย่างไร

มัจฉา พรอินทร์
มัจฉา พรอินทร์

ตัวอย่างที่มัจฉาหยิบยกขึ้นมาได้แก่ความต้องการ ‘บิดา-มารดา’ ในการรับเลี้ยงบุตรบุญธรรม ซึ่งอาจไม่สอดคล้องกับบริบทของคู่รักเพศเดียวกัน ไม่เพียงเท่านั้น ยังต้องจับตามองกระบวนการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐในบริบทสังคมวัฒนธรรมที่แตกต่างด้วย

“ในพื้นที่ศาสนาที่เจ้าหน้าที่อาจจะเป็นมุสลิม หรือในพื้นที่ 3 จังหวัด (ชายแดนภาคใต้) กรณีที่คู่เพศเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นมุสลิมหรือไม่ใช่มุสลิมแต่อยู่ในพื้นที่แล้วเขาอยากไปจดทะเบียนสมรส ในทางปฏิบัติ เจ้าหน้าที่ภาครัฐสามารถที่จะให้บริการได้จริงไหม

“และถ้าไม่ให้บริการสิ่งนี้ถือว่าผิดหรือเปล่า แล้วถ้าเราบังคับเจ้าหน้าที่ ไม่ว่าคุณจะนับถือศาสนาอะไร คุณเป็นเจ้าหน้าที่คุณต้องจดทะเบียน แล้วมันขัดหลักการศาสนาเขาหรือไม่ สิ่งเหล่านี้ต้องมีระเบียบในทางปฏิบัติเพื่อให้มั่นใจว่าการสมรสเท่าเทียมคือสิทธิ” มัจฉากล่าว

กฎหมายสมรสเท่าเทียมจะได้รับการพิจารณาต่อในวาระที่สองในการประชุมวิสามัญของวุฒิสภาในวันที่ 18 มิถุนายน อ้างอิงจากการรายงานของสถานีวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์วิทยุรัฐสภา

เศรษฐา ทวีสิน (กลาง) นายกรัฐมนตรีของไทย ขณะร่วมงานไพรด์ พาเหรด กรุงเทพมหานคร วันที่ 1 มิถุนายน 2567 (ที่มา: AP)
เศรษฐา ทวีสิน (กลาง) นายกรัฐมนตรีของไทย ขณะร่วมงานไพรด์ พาเหรด กรุงเทพมหานคร วันที่ 1 มิถุนายน 2567 (ที่มา: AP)

เมื่อได้รับการรับรองครบสามวาระ กฎหมายจะถูกส่งไปให้พระมหากษัตริย์ลงประปรมาภิไธย และมีผลบังคับใช้เมื่อประกาศกฎหมายในราชกิจจานุเบกษา

แดน (นามสมมติ) ชายไทยที่คบหากับชายชาวญี่ปุ่น ให้สัมภาษณ์โดยขอไม่เปิดเผยชื่อเนื่องจากข้อกังวลกับที่ทำงาน กล่าวกับวีโอเอไทยว่าอยากให้กฎหมายสมรสเท่าเทียมทำให้พวกเขาดูแลชีวิตและทรัพย์สินของกันและกันได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

“ในอนาคตเราก็ไม่แน่ใจว่าใครอยู่ก่อนไปก่อน สมมติว่าผมไปก่อนขึ้นมาจริงๆ ถ้าเกิดยังไม่เกิดการจดทะเบียนหรือยังไม่มีกฎหมายนี้ เขาก็ทำอะไรลำบากมากเพราะไม่มีความเกี่ยวข้องเลย ในทางกลับกันเขาเป็นอะไรไปขึ้นมาก่อน และยังไม่มีกฎหมายนี้ ไม่มีการจดทะเบียน ไม่เกี่ยวข้องกันเลย ก็จะเหมือนกัน จะจัดการเรื่องศพ เรื่องญาติอะไรยังไง ก็เป็นเรื่องยากเหมือนกัน”

“มองในแง่ความสะดวกและความเป็นกฎหมายมากกว่า เพราะเรื่องของการเป็นสัญลักษณ์นั้น มันผ่านจุดนั้นมานานมากแล้ว” แดนกล่าว และเพิ่มเติมด้วยว่าสาเหตุที่คนรักย้ายจากญี่ปุ่นมาทำงานที่ไทย ก็เพราะบรรยากาศที่เปิดกว้างกว่า

ความหวังจากสายตาคนภายนอก

สำหรับมัจฉาที่เป็นนักเคลื่อนไหวเรื่องความหลากหลายทางเพศในระดับนานาชาติ เธอมองว่าหากไทยผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียม ย่อมจะเป็นแรงกระเพื่อมไปยังการผลักดันเรื่องนี้ในที่อื่น เหมือนที่เธอรู้สึกได้เมื่อไปร่วมงานไพรด์ พาเหรด ที่ไต้หวันเมื่อปี 2561 หนึ่งปีก่อนจะมีการผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียมเป็นแห่งแรกในเอเชีย

ผู้ชุมนุมสนับสนุนความหลากหลายทางเพศ ขณะรวมตัวกันสนับสนุนกฎหมายสมรสเท่าเทียมในไทเป ไต้หวัน วันที่ 10 ธันวาคม 2559 (ที่มา: AP)
ผู้ชุมนุมสนับสนุนความหลากหลายทางเพศ ขณะรวมตัวกันสนับสนุนกฎหมายสมรสเท่าเทียมในไทเป ไต้หวัน วันที่ 10 ธันวาคม 2559 (ที่มา: AP)

“ภาพที่เราจดจำเลยคือเวทีที่ไม่ได้มีแค่ชุมชน LGBTQ ไปพูดความสำคัญการปกป้องเด็กในสังคม โรงเรียน แต่สมรสเท่าเทียมถูกพูดจากตัวแทนภาครัฐ รัฐสภา คนทำงาน หรือแม้กระทั่งเครือข่ายที่ไม่ใช่ชุมชน LGBTQ ลุกขึ้นมาพูดถึงความสำคัญของการมีกฎหมายสมรสเท่าเทียมในไต้หวัน”

“เราก็จำความรู้สึกของการได้รับความสนับสนุนนั้น และปักหมุดหมาย คนในประเทศไทยจำนวนมากรวมถึงเจี๊ยบก็ปักหมดหมายว่าไทยจะต้องเป็นบรรยากาศแบบนั้นแหละ”

ไรอัน ซิลเวริโอ ผู้อำนวยการบริหารของ ASEAN SOGIE Caucus องค์กรประชาสังคมที่ผลักดันเรื่องความหลากหลายเท่าเทียมทางเพศในระดับภูมิภาคอาเซียน กล่าวกับวีโอเอไทยว่า การผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียมของไทยจะเป็นพัฒนาการเชิงบวกในภูมิภาคนี้ ที่ความหลากหลายทางเพศยังเป็นประเด็นที่ถูกกดดัน ไปจนถึงมีโทษทางกฎหมาย

“จนกว่าที่มันจะถูกรับรอง…บังคับใช้กฎหมายและข้อบังคับ จนถึงตอนนั้นเราถึงสามารถเฉลิมฉลองได้ แต่ตอนนี้ เราคิดว่าสิ่งที่เราทำได้คือการแสดงความสนับสนุนสำหรับความพยายามทุกอย่างที่องค์กร LGBTQIA+ ในการผลักดันการสมรสเท่าเทียม”

ลี พิเซย์ ผู้ก่อตั้ง เรนโบว์ คอมมิวนิตี้ กัมพูเจีย หรือ ROCK องค์กรพัฒนาเอกชนที่สนับสนุนชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศ กล่าวว่าการให้คนเพศเดียวกันสามารถสมรสกันได้ มีความหมายกับการรณรงค์เรื่องนี้ในประเทศเพื่อนบ้านมาก ในวันที่สังคมเริ่มเปิดกว้างขึ้น และผู้มีความหลากหลายทางเพศมั่นใจที่จะพูดในสิ่งที่ตัวเองเป็นมากขึ้น

ลี พิเซย์
ลี พิเซย์

“สำหรับพวกเรา ตอนที่พวกเรารู้เรื่องไทยกำลังมีก้าวย่างในทางบวก พวกเราภูมิใจมาก เรารู้สึกมีความหวังมาก เราบอกว่า โอเค เพื่อนบ้านของเราในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเราเชื่อว่าเร็ว ๆ นี้จะเป็นกัมพูชา”

พิเซย์กล่าวด้วยว่า รัฐบาลกัมพูชารับรองข้อเสนอแนะการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในเวทีสหประชาชาติในปี 2562 เรื่องการสมรสเท่าเทียมแล้ว โดย ROCK และรัฐบาลกำลังร่วมกันผลักดันให้เกิดความเท่าเทียมทางเพศในกัมพูชาต่อไป และความสำเร็จใด ๆ ที่จะเกิดในไทย ก็เป็นสิ่งที่กัมพูชาสามารถเรียนรู้เพื่อผลักดันต่อไปได้เช่นกัน

เจมส์ (นามสมมติ) เกย์ชาวสิงคโปร์ กล่าวว่าแม้เงื่อนไขการเมืองของประเทศเกาะแห่งนี้จะยังไม่เอื้อต่อการเกิดกฎหมายสมรสเท่าเทียม แต่การมีสัญญาณเชิงบวกจากไทย ก็อาจช่วยให้บทสนทนาเรื่องนี้ในสิงคโปร์ดำเนินต่อไปได้

“หวังว่า (สมรสเท่าเทียมในไทย) จะเป็นแรงกกดันไปยังเเจ้าหน้าที่ เพราะพวกเขาเห็นประเทศอื่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ออกกฎหมายรองรับ” เจมส์ผู้ขอใช้นามสมมติเนื่องจากสภาพกดดันต่อชุมชน LGBTQ ในสิงคโปร์ กล่าว

เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 สิงคโปร์ยกเลิกกฎหมายสมัยอาณานิคมที่ลงโทษการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างเพศเดียวกัน แต่ในช่วงเวลาเดียวกันก็จำกัดให้อำนาจการตัดสินใจเกี่ยวกับนิยามของการสมรสและการมีครอบครัวให้อยู่กับฝ่ายนิติบัญญัติและบริหารเท่านั้น โดยไม่ให้ศาลพิจารณาคำร้องของประชาชนในกรณีนี้

ลอว์เรนซ์ หว่อง รองนายกรัฐมนตรีที่เพิ่งรับช่วงต่อตำแหน่งนายกฯ ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เคยประกาศคำมั่นเอาไว้ในปี 2565 ว่า การแต่งงานระหว่างเพศเดียวกันจะไม่เกิดขึ้นภายใต้การบริหารประเทศของเขา ตามการรายงานของรอยเตอร์

บริษัทวิจัยและวิเคราะห์ข้อมูล Ipsos เผยแพร่การสำรวจในปี 2566 ระบุว่าชาวสิงคโปร์ 45% มีทัศนคติที่ดีต่อความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลเพศเดียวกันมากขึ้นกว่าช่วงสามปีที่แล้ว โดยเฉพาะในหมู่ผู้ใหญ่ที่ยังอายุไม่มาก ที่มีการยอมรับที่ระดับ 67%

ไทยเป็นที่รู้จักในฐานะประเทศที่มีบรรยากาศเปิดรับผู้มีความหลากหลายทางเพศมากกว่าหลายชาติในเอเชีย การรายงานข่าวก่อนหน้านี้มีข้อมูลของชาวต่างชาติหลายคนในทวีปนี้ เช่น ชาวจีน ที่ตัดสินใจมาเที่ยวหรืออยู่อาศัยในไทยด้วยเหตุผลดังกล่าว

ในวันที่ 1 มิถุนายน ประเทศไทยเพิ่งมีการจัดพาเหรดรณรงค์ด้านความหลากหลายทางเพศ ต้อนรับการเข้าสู่เดือนแห่งความหลากหลายทางเพศ หรือ Pride Month โดยมีการร่วมมือจากทั้งภาครัฐ เอกชนและประชาสังคมในการจัดงานอย่างยิ่งใหญ่ รอยเตอร์รายงานว่า กิจกรรมดังกล่าวมีผู้เข้าร่วมเดินขบวนหลายพันคน

  • ข้อมูลเพิ่มเติมจากรอยเตอร์

กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG