รัฐมนตรี Marty Natalegawa ของกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซีย กล่าวแสดงความหวังในที่ประชุมแถลงข่าวว่า คณะกรรมาธิการเรื่องสิทธิมนุษยชนของอาเซียนจะทำงานได้ผลมากขึ้น ซึ่งจะเป็นการแสดงให้เห็นถึงพันธกรณีของอาเซียนที่จะให้ความเคารพต่อสิทธิมนุษยชน
แต่นายปวิน ชัชวาลพงศ์พันธุ์ นักวิเคราะห์ของสถาบันเอเชียอาคเนย์ศึกษา หรือ Institute of Southeast Asia Studies ในสิงคโปร์ กล่าวว่า การเน้นย้ำเรื่องสิทธิมนุษยชน เป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของอาเซียน ซึ่งชาติภาคีบางประเทศ อาจจะมองว่าเป็นการละเมิดหลักการของสมาคมฯที่จะไม่เข้าไปก้าวก่ายเรื่องภายในของชาติภาคี
นักวิเคราะห์ของสถาบันเอเชียอาคเนย์ศึกษาผู้นี้ ให้ความเห็นว่า ชาติภาคีพอใจที่จะหารือเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ ตราบเท่าที่ไม่กระทบกระเทือนผลประโยชน์ของตน และในเรื่องยากๆ อย่างเช่น ประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน ก็ต้องยอมรับว่า ชาติภาคีอาเซียนไม่เป็นประชาธิปไตยทุกประเทศ
ในจำนวนสมาชิก 10 ประเทศของอาเซียน ลาวและเวียตนามมีพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียว ซึ่งเป็นพรรครัฐบาล ในขณะที่กลุ่มพิทักษ์สิทธิมนุษยชนมองว่า รัฐบาลทหารของพม่า เป็นรัฐบาลชุดที่กดขี่ข่มเหงประชาชนมากที่สุดชุดหนึ่งในโลก
กลุ่มองค์กรพิทักษ์สิทธิมนุษยชนได้ตำหนิวิพากษ์อาเซียนที่ไม่ประจันหน้ากับพม่าในเรื่องนี้ นักวิเคราะห์ ปวิน ชัชวาลพงศ์พิทักษ์ กล่าวว่า อาเซียนจะต้องยกเลิกหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในของชาติภาคี
นักวิเคราะห์ของสถาบันเอเชียอาคเนย์ศึกษาในสิงคโปร์ผู้นี้ให้ความเห็นว่า อาจถึงเวลาที่อาเซียนพิจารณามาตรการลงโทษ โดยไม่ต้องไปไกลถึงกับขับออกจากการเป็นสมาชิก แต่ควรจะต้องมีการปฏิบัติตามและมีมาตรการลงโทษประเทศสมาชิกที่ไม่ปฏิบัติตามกฎข้อบังคับ
แต่รัฐมนตรี Marty Natalegawa ของกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซียกล่าวว่า แทนที่จะลงโทษประเทศสมาชิกที่ไม่ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ อินโดนีเซียตั้งใจจะใช้การทูตอย่างเงียบๆ และการสร้างฉันทามติในหมู่ชาติภาคี เพื่อโน้มน้าวให้ประเทศสมาชิกมีความเคารพในสิทธิมนุษชน