คุณ Yessi Permana นักวิจัยชาวอินโดนีเซียผู้คิดค้นพลาสติกที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติซึ่งผลิตจากน้ำมันละหุ่งกล่าวว่า จุดประสงค์ของตนคือการใช้ประโยชน์สูงสุดจากศักยภาพที่อินโดนีเซียมีอยู่ เช่นความอุดมสมบูรณ์ทางชีวภาพและวัตถุดิบทางธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ทางอุตสาหกรรม โดยเขาได้รับแรงจูงใจมาจากการตื่นตัวพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆในอินโดนีเซีย เป้าหมายคือเพื่อที่จะสามารถบอกกับบริษัทต่างชาติได้ว่า สินค้าส่งออกจากอินโดนีเซียนั้นไม่ได้มีแค่วัตุดิบ แต่ยังมีเทคโนโลยีที่ผลิตสำเร็จรูปแล้วด้วย
คุณ Permana เล่าว่าตนจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยกรุงโตเกียวและทำงานช่วงหนึ่งอยู่ในญี่ปุ่น ที่ซึ่งตนพบว่าวัตถุดิบที่ญี่ปุ่นนำเข้าไปจากอินโดนีเซียนั้นถูกนำไปแปรรูปผลิตเป็นสินค้าสำเร็จรูป แล้วส่งกลับมาขายให้คนอินโดนีเซียเองในราคาสูงกว่า นักวิทยาศาตร์ผู้นี้บอกว่าตนเกิดความคิดว่าต้องกลับอินโดนีเซียขณะกำลังเปลี่ยนผ้าอ้อมให้ลูกอยู่แล้วพบว่ากระดาษทิชชู่แบบเปียกที่ใช้เช็ดก้นเด็กนั้นมีส่วนผสมของน้ำมันละหุ่ง ซึ่งมาจากเมล็ดละหุ่งที่อินโดนีเซียส่งออกให้กับบริษัทญี่ปุ่นเพื่อใช้ผลิตเป็นน้ำมันละหุ่ง เขาจึงเกิดความคิดว่าทำไมอินโดนีเซียจึงไม่คิดหาวิธีผลิตน้ำมันละหุ่งส่งออกเสียเอง นำไปสู่แนวคิดสร้างพลาสติกจากน้ำมันละหุ่งในที่สุด
ทางด้านคุณ Marsia Gustiananda นักวิทยาศาสตร์อินโดนีเซียอีกผู้หนึ่งก็เกิดแรงบันดาลใจในลักษณะเดียวกัน หลังจากพาลูกชายไปฉีดวัคซีนขณะทำงานอยู่ในเนเธอร์แลนด์ เวลานี้คุณ Gustiananda ทำงานพัฒนาวัคซีนชนิดใหม่รักษาโรคไข้หวัดใหญ่ โดยใช้แนวทางการศึกษาด้านพันธุกรรมที่เรียกว่า immunoinformatics เป้าหมายเพื่อให้มีวัคซีนไข้หวัดใหญ่สำหรับคนอินโดนีเซียเอง โดยไม่ต้องพึ่งพาวัคซีนราคาแพงจากต่างประเทศ
ทั้งคุณ Yessi Permana และคุณ Marsia Gustiananda คือส่วนหนึ่งของนักวิทยาศาสตร์อินโดนีเซียที่ประชุมร่วมกับนักวิทยาศาสตร์ต่างชาติที่ศูนย์วิทยาศาสตร์แห่งหนึ่งชานกรุงจาการ์ต้า เพื่อแลกเปลี่ยนแนวคิดการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งนอกจากวัคซีนแบบใหม่และพลาสติกจากน้ำมันละหุ่งที่กล่าวมาแล้ว ยังมีเทคโนโลยีอื่นๆที่น่าสนใจ เช่น เซลล์เชื้อเพลิงแบบใหม่ที่ผลิตจากเซอร์โคเนียซึ่งเป็นวัตถุดิบที่ใช้ทำเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์มือถือ รวมทั้งพันธุ์ข้าวชนิดใหม่ที่สามารถปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกได้ดียิ่งขึ้น
บรรดาผู้เข้าร่วมประชุมต่างต้องการให้รัฐบาลอินโดนีเซียเพิ่มทุนสนับสนุนงานวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีของอินโดนีเซียมากขึ้น เพื่อให้ต่างชาติเห็นว่าอินโดนีเซียมิได้อุดมสมบูรณ์แค่วัตถุดิบตามธรรมชาติเท่านั้น แต่มันสมองก็อุดมสมบูรณ์ไม่แพ้ประเทศใด