ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ฟิลิปปินส์ - อินโดฯ เพิ่มกฎคุมเข้มนักเดินทางจากต่างประเทศ หวั่นเชื้อ 'โอมิครอน'


ฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย เพิ่มมาตรการควบคุมจำกัดนักเดินทางจากต่างประเทศ สืบเนื่องจากการพบเชื้อโคโรนาไวรัสกลายพันธุ์ตัวใหม่ 'โอมิครอน' เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า อินโดนีเซียจะเริ่มจำกัดการเข้าประเทศของผู้ที่เดินทางมาจาก 8 ประเทศในแอฟริกา ได้แก่ แอฟริกาใต้ บอตสวานา นามิเบีย ซิมบับเว เลโซโธ โมซัมบีก เอสวาตินี และไนจีเรีย

สำหรับพลเมืองชาวอินโดฯ ที่เดินทางมาจาก 8 ประเทศดังกล่าว และฮ่องกงซึ่งพบผู้ติดเชื้อไวรัสโอมิครอนแล้วนั้น จะต้องถูกกักตัวในสถานที่ที่ทางการจัดไว้เป็นเวลา 14 วัน

นอกจากนี้ อินโดนีเซียจะเพิ่มเวลาการกักตัวผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศทุกคนจาก 3 วันเป็น 7 วัน เพื่อป้องกันการระบาดของเชื้อไวรัสโอมิครอนที่ว่านี้ด้วย โดยเริ่มมีผลบังคับใช้วันจันทร์นี้เป็นต้นไป และจะมีการประเมินสถานการณ์อีกครั้งทุกสองสัปดาห์

อย่างไรก็ตาม ผู้แทนของกลุ่ม G-20 ที่จะไปร่วมประชุมที่อินโดนีเซียจะไม่ได้รับผลกระทบจากมาตรการใหม่นี้แต่อย่างใด

ขณะเดียวกัน ทางการฟิลิปปินส์ประกาศเพิ่มมาตรการควบคุมจำกัดผู้ที่เดินทางมาจากหลายประเทศเช่นกัน โดยเพิ่มรายชื่อประเทศในยุโรปอีก 7 ประเทศไว้ใน "บัญชีแดง" รวมกับ 7 ประเทศในแอฟริกาที่ประกาศไปแล้วก่อนหน้านี้

คณะทำงานเพื่อการป้องกันการระบาดของโคโรนาไวรัสในฟิลิปปินส์ ประกาศจำกัดการเข้าประเทศของผู้ที่เดินทางมาจาก 7 ประเทศในยุโรป ได้แก่ ออสเตรีย สาธารณรัฐเชก ฮังการี เนเธอร์แลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ เบลเยียม และอิตาลี จนถึงวันที่ 15 ธันวาคม

ก่อนหน้านี้ ฟิลิปปินส์ได้จำกัดการเข้าประเทศของผู้ที่เดินทางมาจากแอฟริกาใต้ บอตสวานา นามิเบีย ซิมบับเว เลโซโธ โมซัมบีก และเอสวาตินี ล่วงหน้าไปก่อนแล้ว

นอกจากนี้ ฟิลิปปินส์ยังได้เลื่อนแผนเปิดรับนักเดินทางจากต่างชาติที่ได้รับวัคซีนครบแล้วออกไปก่อน จากเดิมที่จะเริ่มนำมาใช้ในวันที่ 1 ธันวาคม

ทั้งนี้ ฟิลิปปินส์คือหนึ่งในประเทศที่มีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตตากโควิด-19 มากที่สุดประเทศหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเคยมีจำนวนผู้ติดเชื้อสูงสุดถึงวันละมากกว่า 26,000 คนเมื่อเดือนกันยายน ก่อนที่จะลดลงมาอยู่ที่ระดับไม่ถึงวันละ 1,000 คนในปัจจุบัน หลังจากที่สามารถฉีดวัคซีนให้ประชากรไปได้แล้ว 46% ของประชากรที่เข้าข่ายได้รับวัคซีนทั้งหมด

  • ที่มา: สำนักข่าวรอยเตอร์​
XS
SM
MD
LG